“ชัชชาติ”เผยหลังภาคเอกชนร่วมมือกทม.ยินยอมให้ใช้ที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีตามเงื่อนไข แต่ผลประชุม 17 ก.ค.65 พบหน่วยงานในสังกัดไม่ได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินบริจาค เหตุมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ล่าสุดที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการกกลั่นกรองการพิจารณารับที่ดินเอกชน หวังเกิดความคุ้มค่าประโยชน์สูงสุดต่อกทม.
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2565 ณ อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง ว่า ในวันนี้( 18 กรกฎาคม 2565) ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางปฏิบัติการพิจารณาการใช้ที่ดินเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ จากกรณีที่เอกชนยินยอมให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยจะได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ  และจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานมิได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่รับบริจาคดังกล่าว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ(คกก.)เพื่อพิจารณาการรับที่ดินเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ หารือความคุ้มค่าและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สอดคล้องกับระเบียบและข้อกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดกับกรุงเทพมหานคร

“เรื่องเอกชนให้ที่สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรืออาจจะเพื่อเป็นการลดภาษี การที่ กทม.รับมอบที่ดิน ก็ต้องสูญเสียรายได้จากภาษีด้วย ดังนั้นกทม.ต้องคิดให้รอบคอบ จึงให้ตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การรับมอบ และกลั่นกรองให้คุ้มกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทุกคนที่อยากจะบริจาคพื้นที่ให้ ทั้งพื้นที่ทั่วไปและพื้นที่ที่เป็นบึงน้ำ ขณะนี้กทม.จะรับเรื่องไว้ก่อนและให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป” ดร. ชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการติดตามผลงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 ดี 216 นโยบาย ซึ่งทุกหน่วยงานนำเข้าข้อมูลโดยบันทึกโครงการ รายละเอียดการดำเนินงาน เป้าหมาย และขั้นตอนการดำเนินงานในระบบ BMA Digital Plans พร้อมปรับปรุงสถานะการดำเนินงานให้เป็นปัจจุบัน และประชาชนสามารถติดตามสถานะของนโยบายผ่านทาง  https://gov.bangkok.go.th/ccp/frontend/web/

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล นำผลงานทั้งหมดของกรุงเทพมหานครมาแสดงในระบบด้วย ไม่เพียงเฉพาะ 216 แผนปฏิบัติการ และต้องแยกวัตถุประสงค์ให้ชัด คือ แยกสำหรับติดตามงาน และให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ (ระบบภายใน ภายนอก)

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*