ปี 2567 เป็นปีที่ภาคอสังหาฯ ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสำคัญ คือ การพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยการออกแบบที่อยู่อาศัยและบริการต้องคำนึงถึงสภาพของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน การใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยี่อย่างเหมาะสม

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) ในเครือบริษัทแอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ว่า จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2567 ของฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และบทวิเคราะห์ของ  ‘คิด’ Creative Thailand ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)พบว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยและงานบริการในปี 2567 จะต้องคำนึงถึง 3 มิติ ประกอบด้วย ผู้คน, สังคมและวัฒนธรรมและนิเวศและสิ่งแวดล้อม

โดยปัจจุบันผู้คนในแต่ละ Generation ต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยและงานบริการที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการที่แตกต่างกันในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว(Uniqueness) สำหรับผู้ซื้อในแต่ละ Generation เช่น Solo Service จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องการอิสระ อยู่เป็นโสดและเดินทางคนเดียวมากขึ้น ทำให้ความต้องการที่จะได้รับบริการสำหรับลูกค้าที่มาเพียงลำพังจะได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ร้านอาหารที่มีพื้นที่สำหรับการนั่งคนเดียว หรือการออกแบบพื้นที่สำหรับคนโสด เช่น Co-working Space หรืออพาร์ทเมนต์สำหรับคนโสด ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

Build-to-Rent คือ การสร้างบ้านให้กลุ่มคนโสดมารวมตัวกัน ทั้งการแชร์บ้านกับคนแปลกหน้า หรือการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนแกงค์คนโสด วัฒนธรรมการเช่าบ้านนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในจีน เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2561 รวมไปถึงคู่สมรสที่ไม่อยากมีลูก

ทั้งนี้จากผลการสำรวจของบริษัทพบว่า ปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับความสามารถในการสร้างรายได้ของผู้บริโภคในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นผนวกกับราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาพลังงาน และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้การซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง โดยปี 2565 ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ลดดลงมาอยู่ที่ 34% จากเดิมเคยสูงถึง 45% ของมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท

และเมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการเช่ากับซื้อ พบว่า ราคาขายคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีการปรับเพิ่มเมื่อเทียบกับปี 2561 ถึง 29% ในขณะที่อัตราค่าเช่ากลับมีทิศทางที่ลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

ส่งผลให้ทิศทางการเลือกคอนโดฯในรูปแบบการเช่าไตรมาส 1 ปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 56% เมื่อเทียบกับความต้องการซื้อที่ลดลงถึง 5% เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าเข้าสู่ยุค Generation Rent ที่เน้นการเช่ามากกว่าซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z, Gen Y ที่มีสถานะเป็นผู้เช่ามากกว่า 50% และมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 6,000-9,000 บาทต่อเดือน โดยที่มีสัดส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 20,000-40,000 บาท และมีสถานภาพโสดมากกว่า 70% สะท้อนถึงพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ชอบอยู่คนเดียว, ชอบความสะดวกสบาย, ชอบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่

Hybrid Work หรือการทำงานแบบผสมผสาน วางแผนการเข้างานที่บริษัทและทำงานจากทางไกลได้อย่างสมดุล เป็นสิ่งที่ชาว Gen Z แสวงหามากที่สุด โดยมีการหางานที่ระบุเงื่อนไขบน LinkedIn ว่า “Flexibility” มากที่สุดถึง 77%

จากข้อมูลแนวโน้มดังกล่าว บริษัทได้มีการสำรวจพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันพบว่า การบริการที่จะเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตในรูปแบบของ Hybrid Work  คือ บริการด้านการขนส่ง หรือเดินทาง เช่น MuvMi, Grab, Line Man, Bolt, Cabb ฯลฯ ที่ให้บริการ Application เป็นพื้นฐานของความสะดวกของคนรุ่นใหม่ และคาดว่าภายในปี 2571 มูลค่าตลาดการเรียกใช้บริการรถผ่าน Application จะอยู่ที่ 153,800 ล้านบาท โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 มีชาวต่างชาติที่ใช้บริการเรียกรถของแกร็บสูงถึง 45%

ในขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มคอนโดฯและบ้านพักอาศัยที่ตอบโจทย์ผู้คนในยุคนี้ คือการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถรองรับ”การใช้งานคนเดียวท่ามกลางผู้คนในพื้นที่ส่วนรวม” มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีการออกแบบที่รองรับการใช้งานของผู้สูงอายุและคนทุกวัย ในขณะที่พื้นที่พักอาศัยควรคำนึงถึงการอยู่อาศัยของคนโสด ตอบรับตลาดการเช่า และครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

สังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture)
Digital Nomad เป็นรูปแบบการทำงานแบบ Flexible ที่เกิดขึ้นจากกระแสการอพยพครั้งใหญ่ในช่วงปี 2563-2568 ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์บทใหม่  โดยเทคโนโลยี่ดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่สามารถทำงานได้ในทุกที่ทุกเวลา ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมี Digital Nomad 1,000 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2578 แนวโน้มดังกล่าวจำเป็นที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับแนวคิดในการพัฒนาโครงการที่ต้องตอบโจทย์กับความต้องการของพฤติกรรมของผู้ซื้อในปัจจุบัน โดยการออกแบบพื้นที่และบริการเสริมเข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้พื้นที่สำหรับทำงาน เช่น

-การออกแบบพื้นที่พักอาศัยรองรับการเช่าระยะสั้น-กลาง และพื้นที่ส่วนกลางที่รองรับการทำงานทางไกลได้อย่างสะดวก เช่น มีโต๊ะทำงานที่เหมาะสมพร้อมปลั๊กไฟและสัญญาณอินเตอร์เนตที่ทั่วถึง จัดให้มีพื้นที่ประชุมออนไลน์ หรือพื้นที่บริการเครื่องถ่ายเอกสาร ซุ้มกาแฟและของว่าง

-การปรับระยะเวลาในการเข้าใช้บริการในพื้นที่ส่วนกลาง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนช่วงระยะเวลาในการทำงาน ทำให้ระยะเวลากับความต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลางไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องเวลาการให้บริการพื้นที่ส่วนกลาง ทำให้ต้องมีการเปิดขยายเวลาให้บริการมากกว่า 20 ชั่วโมง/วัน หรือ 24 ชั่วโมง

ด้านนิเวศและสิ่งแวดล้อม (Environment)
จากรายงานของ Mastercard พบว่า 58% ของผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบทางนิเวศที่ตนเองมีส่วนร่วมมากขึ้นนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 และ 85% เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนตัวเพื่อร่วมรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ โดยข้อมูลจาก Edelman Trust Barometer ในปี 2565 รายงานว่า 52% ของผู้บริโภคใน 28 ประเทศ ต้องการเห็นธุรกิจต่างๆรับมือกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ข้อมูลจาก Uniliver ได้รายงานข้อมูลเชิงลึกว่าผู้บริโภคกำลังเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

Regenerative คือแนวคิดหมุนเวียนเกิดใหม่ นำมาปรับใช้กับแบรนด์ที่สนับสนุนความยั่งยืนโดยเน้นชุดความคิด 4 ด้านคือ ลดความเสี่ยง ทำลายเป็นศูนย์(Zero Harm) สร้างสิ่งดี และคำนึงถึงการหมุนเวียนเกิดใหม่ได้

จากแนวโน้มดังกล่าว การพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในปี 2567 จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการก่อสร้าง จากการสำรวจของ LWS พบว่าการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2567 และในอนาคตจำเป็นต้องให้ความสำคัญในประเด็นดังต่อไปนี้

-จัดพื้นที่และบริการคัดแยกขยะ จากผลสำรวจของ LWS พบว่า คนรุ่นใหม่กว่า 77% ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ จนนำไปสู่จุดเปลี่ยนที่หันมาสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 70% ดังนั้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ โดยมีทั้งจุดคัดแยกขยะ ไปจนถึงตู้รับขยะรีไซเคิลอัตโนมัติสำหรับโครงการประเภทคอนโดฯ เป็นต้น

-ติดตั้ง Solar Roof ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เฉลี่ย 10 บาทต่อวัตต์ จาก 80 บาทต่อวัตต์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีครัวเรือนกว่า 3 ล้านหลัง แต่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์อยู่ไม่ถึง 10% คาดว่า 3 ปีจากนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 110,000 บาทต่อ 3 Kwp สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อเดือน

จากแนวโน้มดังกล่าว การติดตั้ง Solar Roof ในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยกำลังกลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องนำมาติดตั้งให้กับที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุดพักอาศัย รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางก็จำเป็นที่จะต้องติดตั้งระบบ Solar Cell เพื่อประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายของโครงการ

-เพิ่มการติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีรถไฟฟ้าสะสมสูงถึง 120,000 คัน โดยผู้อยู่อาศัยในคอนโดมากกว่า 20% ต้องการเพิ่มช่องจอดรถที่มี EV Charger ส่วนใหญ่โครงการคอนโดฯปัจจุบันมี EV Charger อยู่แล้วโดยเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 2 ช่องจอด แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องปรับเพิ่มโดยประมาณให้ได้มากกว่า 4 ช่องจอด เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*