แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/63 ปรับตัวดีขึ้นจากไตร มีรายได้รวม 1,225 ล้านบาท สูงขึ้น 63.5% สะท้อนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ  เดินหน้าตามแผนพัฒนาโครงการคุณภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งในการบริหารงานและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
นางวัลลภา ไตรโสรัส
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 3/2563 (กรกฎาคม-กันยายน) ขาดทุนสุทธิ 620 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 29.3% จากไตรมาส 2/2563 โดยมีรายได้รวมไตรมาส 3/2563 ที่ 1,225 ล้านบาท หรือลดลง 61.9% จาก 3,213 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้วยผลกระทบต่อเนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าในปัจจุบันได้มีประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ยังไม่สามารถเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตามหากพิจารณารายได้รวมไตรมาส 3/2563 เทียบกับไตรมาส 2/2563 จะเห็นว่ารายได้รวมปรับตัวสูงขึ้น 63.5% แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวและแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวภายในประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถควบคุมค่ายใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 ลดลง 18.9% จากไตรมาส 2/2563 เป็นผลมาจากแผนการปรับโครงการสร้างองค์กรควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย (Cost Control and Efficiency Initiatives) ซึ่งเป็นการรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการบริหารงานและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน

สำหรับในเดือนกรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมาโรงแรมภายใต้ AWC เกือบทั้งหมด (ยกเว้นโรงแรม เชอราตัน สมุย รีสอร์ท) ได้กลับมาเปิดให้บริการ และตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม โรงแรมภายใต้ AWC อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพ และ โรงแรม ดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ ได้เข้าร่วมการเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) ทำให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมดของบริษัท (Average Occupancy Rate) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ และยังมีการลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านค้าเช่าบางรายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า (Retail) เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตไปได้ร่วมกันกับ AWC ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 3/2563 ที่ 620 ล้านบาท แม้ว่าจะยังคงได้รับผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง

“กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ของบริษัท ยังคงได้รับผลกระทบจากภาพรวมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัท อย่างไรก็ตาม AWC ได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ Thai Holidays Lifestyle, Gift of Hapiness จาก 16 โรงแรม ภายใต้ AWC ขานรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” อีกทั้ง Bangkok Holidays Lifestyle, Gift of Happiness เพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยยอดจองโรงแรมต่างๆ อาทิ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่ได้ยอดจองกว่า 5,000 คืน” นางวัลลภา กล่าว

นอกจากนี้ยังได้ออกแพ็กเกจ AWC INFINITE LIFESTYLE:INFINITE POINT OF HAPPINESS แพ็กเกจคะแนน Infinite Point ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ สำหรับใช้เข้าพักหรือแลกเพื่อใช้บริการที่หลากหลายในโรงแรมและรีสอร์ตใดก็ได้ในเครือ AWC ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ ตอบรับนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นและเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้โรงแรมต่างๆ ภายใต้ AWC มี RGI Index ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยโรงแรมในกรุงเทพฯ อาทิ โรงแรม เลอ เมอริเดียน และโรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์  มี RGI Index เดือนกันยายนสูงถึง 268.2 และ 252.9 ตามลำดับ และโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง โรงแรม ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา, ในยางบีช และโรงแรม หัวหิน แมริออท รีสอร์ท และ สปา มี RGI Index ในไตรมาสที่ 3/2563 สูงถึง 387.0 และ 146.3 ตามลำดับ ทำให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัท ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 126 ล้านบาทในไตรมาส 2/2563 เป็น 450 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 257.1%

ในขณะที่รายได้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial) ได้ปรับตัวสูงขึ้นจาก จาก 632 ล้านบาทในไตรมาส 2/2563 เป็น 771 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563 หรือเพิ่มขึ้น 22.0% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail) ที่มีจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการ (Traffic) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 และการลดส่วนลดตามจำนวนผู้ใช้บริการโครงการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) ยังคงสร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ด้วยการวางรากฐานการบริหารงานและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน บริษัทยังคงเดินหน้าปรับโครงการสร้างองค์กรควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต (Cost Control and Efficiency Initiatives) โดยถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2563 แต่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานได้ลดลงจาก 96.9% ในไตรมาส 2/2563 เป็น 78.0% ในไตรมาส 3/2563 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทได้เป็นอย่างดี

“AWC ยังคงเชื่อมั่นในธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยได้เดินหน้าตามแผนพัฒนาโครงการคุณภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา AWC ได้ยกระดับโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในหลากหลายมิติของลูกค้าทุกกลุ่ม ด้วยงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด “Heritage Alive” ต่อยอดการอนุรักษ์หลักฐานอิงประวัติศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเปิดตัวเรือ “สิริมหรรณพ” แลนด์มาร์คใหม่ริมน้ำเจ้าพระยาที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ ที่ให้บริการอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะภายใต้แนวคิดใหม่ในความร่วมมือกับโรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค และได้เปิดตัวโรงแรม บันยันทรี กระบี่ โรงแรมแห่งแรกของ AWC ในจังหวัดกระบี่” นางวัลลภา กล่าว
รวมถึงเตรียมปรับโฉมโครงการพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ให้เป็นศูนย์ค้าส่งใจกลางเมือง “AEC Trade Center – Pantip Wholesale Destination” ด้วยการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้า 11 หน่วยงาน ส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งร่วมมือกับ Yiwu CCC Group ศูนย์ค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะเชื่อมการส่งออก-นำเข้า เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนถึงศักยภาพ และความแข็งแกร่งของ AWC ในการดำเนินแผนกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโต ตลอดจนสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนเพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในระยะยาว

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*