เตรียมจัดตั้งศูนย์ One-Stop-Service บริการนักลงทุนในพื้นที่EEC พร้อมระบุแผนพัฒนาเมืองใหม่ใน3จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยองเปิดโอกาสธุรกิจอสังหาฯ ส่วนการจัดทำผังเมืองใหม่เลื่อนใช้ไปเดือนสิงหาคม 2561

 

นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยในงานสัมมนา “อสังหาริมทรัพย์ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2018” ถึงความคืบหน้าของโครงการ EECว่า การดำเนินการพัฒนายังคงดำเนินการตามกรอบพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีทั้งการพัฒนาในเขตุเมืองเก่าและใหม่ใน 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยในเขตุพื้นที่ที่ส่งเสริมหรือพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมนั้นจะมีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จหรือ One-Stop-Service ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้ง

 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการลงทุนในโครงการต่างๆอาทิ สนามบินอูตะเภา รถไฟความเร็วสูงที่มีการเชื่อมการเดินทางกับทั้งสามสนามบิน และเมื่อมีการพัฒนาเสร็จและเต็มรูปแบบจะช่วยให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น คาดว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเปิดให้ยื่นซองทีโออาร์ และในเดือนกรกฎาคมน่าจะทราบว่าผู้ประกอบการรายใดจะได้เป็นผู้ลงทุน ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2566

 

ส่วนแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดEEC นั้นคาดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ จะนำเข้าที่ประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะมีการนำเสนอการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่และเชื่อมโยงสถานที่ใหม่เพิ่มด้วย

 

สำหรับโอกาสในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน3จังหวัดEECนั้น นางสาวพจณี กล่าวว่า นอกจากการลงทุนอสังหาฯที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว เชื่อว่าโอกาสของธุรกิจจะมีมากขึ้นจากการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองใหม่ (New City) ที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือธนาคารที่ดินแล้ว ยังจะมีการจัดทำหรือแบ่งที่ดินออกมาเป็นโซนหรือบล็อกๆซึ่งนั่นก็จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆด้วย

การจัดทำแผนแม่บทของการพัฒนาเมืองใหม่นั้น ล่าสุดได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นต่อลักษณะเมืองใหม่ที่ควรจะเป็นในพื้นที่ EEC ทั้งนี้การพัฒนาเมืองใหม่ เป็น 1 ใน 8 แผนงานย่อย ภายใต้แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่รัฐบาลต้องการพัฒนาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต ที่จะเติบโตขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ขณะนี้เป็นเพียงการวางกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการและยังไม่มีการกำหนดโลเคชันแต่อย่างใด”

 

เลื่อนใช้ผังเมือง3จังหวัดEECไปเดือนสิงหาคม 2561

ด้านนายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช ได้ใช้ ม.44 กำหนดให้กรมโยธาฯและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)ดำเนินการจัดทำผังเมืองใน 3 จังหวัดEEC ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่แผนแม่บทEEC ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการEEC ในเดือนมกราคม 2561 นั้นยอมรับว่าแผนดังกล่าวไม่สามารถที่จะนำเข้าบอร์ดEEC ได้ทันภายในกำหนด(ม.ค.2561)ทำให้ต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปกลางเดือนปี2561หรือประมาณเดือนสิงหาคม 2561โดยหากมีการประกาศใช้ก็จะยกเลิกผังเมืองเดิมที่มีอยู่ของ3จังหวัด ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ผังย่อยและ3ผังใหญ่ซึ่งเป็นผังจังหวัด

 

ทั้งนี้จากพื้นที่ทั้งหมดใน 3 จังหวัดEECนั้นคาดว่าน่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางผังเมืองประมาณ 5 ล้านไร่ และยอมรับว่าคงใช้เวลาประมาณ1ปีในการจัดทำผังย่อยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าการดำเนินการค่อนข้างยากละต้องใช้เวลา เนื่องจากคนในพื้นที่นั้นมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ต่อต้าน