ซีคอนฯเผยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี63 โต 5% เชื่อปัจจัยลบไม่กระทบเท่าธุรกิจอสังหาฯ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเรียลดีมานด์ ประกาศชะลอแผนเปิด 2 สาขาตจว. รอสถานการณ์คลี่คลาย อาจเจาะพื้นที่จ.ชลบุรี ก่อน ล่าสุดปรับโลโก้แบบบ้านใหม่ หวังสร้างภาพลักษณ์ทันสมัย ตอบโจทย์ลูกค้ารุ่นใหม่ คาดทั้งปียอดขายแตะ 1,480 ล้านบาทเท่าปี62
นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านในปี 2562 ที่ผ่านมาว่ามีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 5% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าตลาด 12,000 ล้านบาท สำหรับในปี 2563 นี้มองว่าภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 5% หรือทรงตัวในระดับเดิม ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลง และที่ส่งผลรุนแรงคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่มองว่าโดยรวมแล้วธุรกิจรับสร้างบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอสังหาฯที่ดีมานด์มีการชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ  เพราะลูกค้ากลุ่มรับสร้างบ้านส่วนใหญ่เป็นเรียลดีมานด์ ที่มีการวางแผนในการสร้างบ้านมาแล้ว โดยกลุ่มลูกค้าระดับราคา 3-6 ล้านบาท ยังเป็นตลาดที่ใหญ่ ซึ่งในส่วนของซีคอนฯเองมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60%  อย่างไรก็ตามอยากให้ภาครัฐสนใจให้ความช่วยเหลือธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านก็ได้พยายามรวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าเจรจากับภาครัฐอยู่เช่นกัน

 

สำหรับผลประกอบการของซีคอนฯ มีการเติบโตตามเกณฑ์ที่วางไว้ โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ปิดยอดขายรวมทั้งหมดกว่า 1,480 ล้านบาท โตขึ้น 14% และปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 12% จากปี 2561 ขณะเดียวกัน ในส่วนของซีคอนฯเองลูกค้ากลุ่มใหญ่คือลูกค้าที่สร้างบ้านระดับราคา  3 – 6 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป และกลุ่มระดับราคา 6-10 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลในปี 2558 – 2562 ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าเป็นลูกค้าที่สร้างบ้านด้วยเงินสด 78% ใช้บริการสินเชื่อ 22% และนับเฉพาะปี 2562 แบ่งเป็นลูกค้าสร้างบ้านด้วยเงินสด 67% และใช้บริการสินเชื่อ 33%

อย่างไรก็ตามส่วนของบริษัทฯเองในช่วง 2 เดือน(มกราคม-กุมภาพันธ์2563)ที่ผ่านมา มียอดจองไม่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 คือมียอดจองประมาณ 140 ล้านบาท เฉลี่ยหลังละประมาณ 5 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีลูกค้าใหม่ใช้บริการประมาณ 300 หลัง คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,480 ล้านบาท

โดยแผนการดำเนินงานของบริษัทฯในปี2563 เดิมมีนโยบายจะขยายสาขาเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงต้องรอดูสถานการณ์ก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะรุกสาขาในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (Eastern Economic Corridor : EEC) ในจ.ชลบุรี ก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ต้องศึกษาทำเลที่ตั้งในการก่อสร้างสำนักงานสาขาก่อน โดยแต่ละสาขาจะใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 20 ล้านบาท

ปัจจุบันซีคอนฯ มีสำนักงานขายทั้งหมด 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์บางแค ศูนย์รามอินทรา ศูนย์แจ้งวัฒนะ และศูนย์ศรีนครินทร์ และเตรียมย้ายสำนักขายจากแจ้งวัฒนะ มาเปิดบ้านตัวอย่างแห่งใหม่ภายในบริเวณโชว์รูมศูนย์งามวงศ์วาน ในช่วงปลายปี 2563 นี้แทน

ล่าสุดได้รีแบรนด์โลโก้ “ซีคอน” เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย  รวมไปถึงการปรับแบบบ้านเดิม จำนวน 12 แบบ จากทั้งหมดกว่า 200 แบบ ในราคาการก่อสร้างเริ่มต้นที่ 2 – 35 ล้านบาท ให้มีความทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น และยังเป็นการฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 ชูแนวคิดที่มาของโลโก้ใหม่ ซีคอน จากการจุดเด่นด้านการพัฒนาการผลิตโครงสร้างเสาและคานคุณภาพสูงภายใต้มาตรฐานซีคอน พร้อมปรับกลยุทธ์เร่งขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนรักษ์โลก ผ่านการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงบูรณาการแบบ Integrated Marketing และกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย

นอกจากนี้ซีคอนฯ ยังคงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ Integrated Marketing ที่ให้ความสำคัญทั้งการตลาดแบบ Offline และ Online ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน โดยแบบ Offline เราให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์จริงให้กับลูกค้าผ่านการออกบูธในงานต่าง ๆ เช่น งานรับสร้างบ้าน Expo, งานรับสร้างบ้าน Focus, งานบ้านและสวน, งานสถาปนิก, การออกบูธในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ต่าง ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานอีกด้วย

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*