หลังจากที่เฝ้ารอและอดทนกับรถติดกันมานานหลายปี วันนี้คนที่อยู่อาศัยบน2 ฝั่งของถนนพหลโยธิน ย่านห้าแยกลาดพร้าว รัชโยธิน เสนานิคม แยกเกษตร ไปจนถึงสะพานใหม่ และคูคต ก็ได้นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อเดินทางเข้าสู่ย่านศูนย์กลางเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปีที่ผ่านมา กทม.ได้เปิดใช้งานช่วงส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ หมอชิตสะพานใหม่คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี ที่สำคัญยังวิ่งให้บริการยาวเชื่อม 3 จังหวัดคือ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และปทุมธานี โดยใช้เวลาเดินทางแค่ 1.30 ชั่วโมงเท่านั่น

โดยแนวเส้นทางวิ่งผ่านถนนสายหลัก “พหลโยธิน” เริ่มต้นจากบริเวณสวนจตุจักร ผ่านจุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนรัชดาภิเษกที่“แยกรัชโยธิน” จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนงามวงศ์วานที่ “แยกเกษตร”  และจุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนรามอินทราและแจ้งวัฒนะที่ ”แยกวงเวียนหลักสี่” ส่งผลให้มูลค่าที่ดินและตลาดที่อยู่อาศัยย่านนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนที่รถไฟฟ้าสายนี้จะเปิดวิ่งให้บริการ

โดยเฉพาะทำเลย่านห้าแยกลาดพร้าวไปจนถึงแยกรัชโยธินและแยกเกษตร ที่มีความเพียบพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งแหล่งงาน สถานศึกษา ศูนย์การค้า ตลาดสด และโรงพยาบาล จนทำให้ทำเลย่านนี้ได้รับการยอมรับให้เป็น New CBD แหล่งงานขนาดใหญ่แห่งใหม่รองรับการขยายตัวของแหล่งงานในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในที่มีความหนาแน่น และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะ คอนโดมิเนียม ที่ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่และใกล้สถานีรถไฟฟ้า

ศูนย์รวมแหล่งงานภาครัฐเอกชนรัฐวิสาหกิจ
สำหรับแหล่งงานสำคัญที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต จะมีทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนอยู่มากมาย โดยเฉพาะในบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ SCB PARK ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยกว่า 500,000 ตารางเมตร  และเป็นที่ตั้งของธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ด้วย

ส่วนแหล่งงานขนาดใหญ่อีกจุดหนึ่งจะกระจุกตัวอยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต มีทั้งปตท.สำนักงานใหญ่ สำนักงานใหญ่บีโอไอ และกระทรวงพลังงาน รวมถึงตึกชินวัตร 3 ที่มีเส้นทางทะลุเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินได้
และฝั่งบริเวณหัวมุมถนนถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีฯ มีทั้งธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ ,อาคารซัน ทาวน์เวอร์ส อาคารเล้าเป้งง้วน และการบินไทย สำนักงานใหญ่

นอกจากนี้ในพื้นที่สองฝั่งของถนนพหลโยธิน ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมป่าไม้,กองปราบปราม,กรมพัฒนาที่ดิน,กรมส่งเสริมการเกษตร,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ,สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ,กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก,กรมทหารราบที่ 11,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น

อาคารสำนักงานขนาดใหญ่จ่อคิวเปิดตัว
ส่วนในอนาคตพื้นที่โซนนี้จะมีอาคารสำนักงานแห่งใหม่เกิดขึ้นอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่ขนาด 48 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเดิมของกลุ่มตระกูลบุญดีเจริญ ที่วางแผนจะสร้างที่ดินแปลงนี้ให้เป็นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสที่ชื่อว่า”บางกอกโดม” แต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันที่ดินผืนนี้ตกเป็นสินทรัพย์ของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หลังจากได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแกรนด์ คาแนล แลนด์ โดยวางแผนจะพัฒนาเป็นโครงการ Mix-Used ขนาดใหญ่มีทั้งออฟฟิศ คอนโดมิเนียม และคอมเมอร์เชียล

โครงการหมอชิต คอมเพล็กซ์ของกลุ่มบีทีเอส ตั้งอยู่บนที่ดินกว่า 11 ไร่ย่านจตุจักร พัฒนาเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าสูง 36 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 167,647 ตารางเมตร  ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ส่วนอาคารสำนักงานของกลุ่มสิงห์ เอสเตท ที่ชื่อว่า  S Oasis ตั้งอยู่ในซอยเฉยพ่วง มีทั้งอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกบางส่วนสูง 35 ชั้น ประกอบด้วยพื้นที่ให้เช่า 54,000 ตารางเมตร พื้นที่ค้าปลีก 1,700 ตารางเมตร ที่จอดรถยนต์จำนวน 870 คัน พร้อม EV Charger ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้วกว่า 60% และคาดว่าจะสร้างเสร็จในช่วงปลายปีนี้



ห้างสรรพสินค้า
สถานศึกษา
โรงพยาบาล ตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง
ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกของคนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถือว่ามีครบครันสำหรับสายช็อปและสายชิล ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัยโรงพยาบาล ร้านอาหารและแหล่งแฮงก์เอ้าท์ หลักๆจะอยู่ในพื้นที่รอบๆสถานีห้าแยกลาดพร้าว โดยเฉพาะห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว และห้างยูเนียน มอลล์ รวมถึงตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดนัดกลางแจ้งที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างชาติ ถัดมาจะอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน มีทั้งตึกช้าง,เมเจอร์ รัชโยธิน ,วิลล่า  อเวนิว และเอสซีบี ปาร์ค พลาซ่า

นอกจากนี้ยังมีแหล่งจับจ่ายใช้สอยของบรรดาพ่อบ้าน-แม่บ้านทั้งห้างโลตัส ลาดพร้าว,โลตัส หลักสี่,ตลาดบางเขน,ตลาดอมรพันธุ์ และตลาดยิ่งเจริญ


ตลาดสดยิ่งเจริญ ตั้งอยู่ติดกับสถานีสะพานใหม่

ส่วนโรงพยาบาลชื่อดังในโซนนี้ มีทั้งโรงพยาบาลเปาโล เกษตร และสะพานควาย,โรงพยาบาลวิภาวดี,โรงพยาบาลภูมิพล,โรงพยาบาลเซ็นทรัลเยเนอรัล และโรงพยาบาลสินแพทย์ พหลโยธิน ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง


โรงพยาบาลภูมิพล

ขณะที่สถานศึกษามีทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย เช่น โรงเรียนหอวัง,โรงเรียนสตรีวรนาถ บางเขน,โรงเรียนสารวิทยา,โรงเรียนบางบัว,โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ส่วนมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก็มีทั้งมหาวิทยาลัยเซ็นต์จอห์น,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

รวมทั้งยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เป็นปอดสำหรับคนกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว คือ สวนจตุจักรขนาดพื้นที่100 กว่าไร่ สวนรถไฟหรือสวนวชิรเบญจทิศ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


สวนจตุจักร ปอดขนาดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ

รถเมล์รถตู้ทางด่วน พร้อมเสิร์ฟการเดินทาง
ส่วนการเดินทางสัญจรในย่านนี้  เรียกว่ามีครบทุกรูปแบบทั้งถนน, ทางด่วน รถโดยสารขนส่งสาธารณะ รถตู้ เชื่อมโยงการเดินทางของกรุงเทพฯตอนบน เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองและย่านธุรกิจที่สำคัญๆได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะถนนพหลโยธิน ที่สามารถเชื่อมต่อกับถนนสายหลักได้ถึง 7 เส้นทาง คือ ถนนลาดพร้าว,ถนนรัชดาภิเษก,ถนนวิภาวดีรังสิต,ถนนงามวงศ์วาน,ถนนเกษตร-นวมินทร์หรือประดิษฐ์มนูธรรม,ถนนรามอินทรา และถนนแจ้งวัฒนะ

นอกจากนี้ยังมีทางด่วนโทล์เวย์ ที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการทางเดินโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือหากต้องการจะเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ บนถนนพหลโยธินก็มีทั้งรถเมล์ขสมก.และรถตู้วิ่งให้บริการ แถมยังมีอู่รถเมล์บางเขนตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้ด้วยใกล้กับวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นต้น

ที่สำคัญสามารถเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศด้วยเครื่องบินโดยสารที่สนามบินดอนเมืองได้สะดวกมาก หรือจะนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสไปลงสถานีพญาไท เพื่อเปลี่ยนเส้นทางนั่งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่วิ่งไปถึงสนามบินสุวรรภูมิก็ได้

BTSสายสีเขียวเหนือ จุดเปลี่ยนชีวิตดั้งเดิม   
รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ส่วนต่อขยายจากหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนหน้าตาของทำเลย่านรัชโยธิน เกษตรได้มากทีเดียว จากชุมชนดั้งเดิมที่เป็นอาคารพาณิชย์ ตลาดสด และร้านค้าต่างๆ กลายเป็นแหล่งงานและแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ เพราะสามารถนั่งบีทีเอสวิ่งตรงเข้าสู่ย่านกลางเมืองได้เลยโดยไม่ต้องไปเปลี่ยนขบวน หรือจะไปนั่งรถไฟฟ้า MRT ก็สามารถไปเปลี่ยนสายได้ที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว

นอกจากนี้ในอนาคตรถไฟฟ้าสายนี้ ยังมีสถานีจุดเชื่อมต่อ(Interchanged Station) และเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565 ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางจากย่านชานเมืองของกรุงเทพตอนบนเข้าสู่ย่านอื่นๆของกรุงเทพฯได้สะดวกมากขึ้น

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู อินเตอร์เชนจ์สเตชั่น บริเวณวงเวียนหลักสี่

ทำให้ทำเลโดยรอบสถานีห้าแยกลาดพร้าว,เสนานิคม,ม.เกษตรศาสตร์,สะพานใหม่ และสถานีคูคต เติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯไฮไรส์ที่เปิดตัวอยู่ใกล้กับจุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า และส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯแบรนด์ดังของดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ในตลาดมหาชนที่มาปักหมุดเกือบครบทุกค่าย  ทั้งออริจิ้น ,แสนสิริ,เอพี ไทยแลนด์,แอล.พี.เอ็น. และเอสซี แอสเสท เป็นต้น

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*