ลลิลฯเผยภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 65 โตอย่างน้อย 10% จาก 5 ปัจจัยบวก ส่งผลแรงอั้นจากปี 64 กลับมาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ประกาศแผนปีเสือจ่อเปิดแนวราบ 10 – 12 โครงการ ใหม่ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท เน้นทำเลกทม. 90% ส่วนหัวเมืองรอง-EEC รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พร้อมตั้งเป้ายอดขายแตะ 8,500 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 7,200 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 10% ทั้งรุกกลยุทธ์ด้าน Digital Marketing หวังเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพ-ตรงตามไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน มั่นใจกำกระแสเงินสดเพียงพอขยายธุรกิจอีกกว่า 1,000 ล้านบาท
นายไชยยันต์ ชาครกุลประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เปิดเผยถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ผ่านมาว่า เป็นปีที่เกิดรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุลขึ้น หรือการฟื้นตัวแบบ K-Shaped   เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการฟื้นตัวได้ดี  โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ราว 5.9% จากที่หดตัว 3.1% ในปี 2563    ในขณะที่เศรษฐกิจของอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีการฟื้นตัวที่ช้า โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ราว 1% จากที่หดตัวถึง 6.1% ในปี 2563 ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล

สำหรับปี 2565 นี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) จะขยายตัวได้ประมาณ 3 – 4% ซึ่งถือว่ายังไม่กลับไปสู่ระดับปกติในช่วงก่อนเกิดการะบาดของโควิด-19  ทั้งนี้เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่  ตลอดจนการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก นำไปสู่การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ  ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอจากผลกระทบของการระบาด  ระดับหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง  ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์    อย่างไรก็ดีภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ได้มีการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 อีก 1 ปี  ,การผ่อนปรนเกณฑ์มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  รวมถึงตลาดแนวราบที่ยังได้แรงหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูงมาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบซึ่งตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้ดีกว่าในยุค New Normal

“ภาพรวมอสังหาฯในปีนี้ น่าจะเป็นบวก คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างน้อย 10% จาก 5 ปัจจัยบวก คือ จีดีพีมีการเติบโต 3-4% จะมีแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจต่างๆมีการฟื้นตัว และทำให้ภาคประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีเงินมาซื้อบ้าน ส่วนโควิด-19 รอบนี้จะไม่ร้ายแรงเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่มาตรการของรัฐที่ขยายค่าธรรมเนียมโอนไปอีก 1 ปี  รวมไปถึงการผ่อนปรนมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ และอัตราดอกเบี้ยในไทยอาจจะปรับขึ้นไม่ขึ้นเท่าสหรัฐอย่างแน่นอน เชื่อว่าน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ และราคาอสังหาฯในปีนี้ หรือความต้องการซื้อในปีที่แล้วที่ยังอั้นอยู่ น่าจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจออกมาซื้อในปีนี้ เชื่อว่าทั้ง 5 ปัจจัยนี้จะเป็นผลบวก ทำให้คนมีความต้องการเพิ่มขึ้น” นายไชยยันต์ กล่าว

ทั้งนี้มองว่าแม้สภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะอุตสาหกรรม ในปี 2565 นี้ จะยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่บริษัทฯ ยังมีความเชื่อมั่นในแผนกลยุทธ์ การบริหารงาน และความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในตลาดแนวราบของบริษัทฯ  จึงมั่นใจว่าจะเป็นอีกปีที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เดินหน้าสู่การเป็น National Housing Company และก้าวสู่การเป็น 1 ใน 5 แบรนด์แรกของผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ผู้บริโภคนึกถึงเมื่อมองหาที่อยู่อาศัยแนวราบในระดับราคา 2 -8 ล้านบาท  โดยในปีนี้มีแผนเปิดโครงการเพิ่มเติมอีก 1012 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท ซึ่งเน้นทาวน์เฮาส์ สัดส่วน 52% ที่เหลืออีกประมาณ 48% เป็นบ้านเดี่ยว เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเรียลดีมานด์ โดยเป็นการพัฒนาโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯสัดส่วน 90% ส่วนโครงการในต่างจังหวัดในหัวเมืองรองและพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) นั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล โดยเฉพาะในพื้นที่จ.ชลบุรี ที่ขณะนี้มีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ อีกประการหนึ่งมองว่าการฟื้นตัวของอสังหาฯในตลาดต่างจังหวัด จะช้ากว่าในกทม.ประมาณ 1 Wave ซึ่มั่นใจว่าจะสามารถเปิดโครงการใหม่ได้ตามเป้า เพราะไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด เนื่องจากมีเพียงพอที่จะขยายธุรกิจ

ส่วนการร่วมมือกับพันธมิตรนั้น ที่ผ่านมาก็ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง แต่การต่อยอดทางธุรกิจแล้วทำองค์กรมีความเสี่ยง ก็จะไม่ดำเนินการ ซึ่งก็มองอยู่ตลอดว่าธุรกิจไหนที่จะสามารถร่วมทุนได้ แต่การเจรจาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เพิ่มความเสี่ยงมากกว่าที่จะเพิ่มการเจริญเติบโต จึงยังไม่มีแผนที่จะร่วมทุนแต่อย่างใด

“ปีนี้เป็นปีที่มีอุปสรรคและยุ่งยากอีกปีหนึ่ง  ผู้ประกอบการต้องบริหารต้นทุนให้ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯจึงไม่ค่อยมีการปรับราคามากนัก และมองว่าอัตราดอกเบี้ยไทยยังไม่ปรับตัวมากนัก เมื่อเทียบกับต่างชาติ แต่การวางแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้อง จะทำให้ฟันฝ่าอุปสรรคในปีนี้ไปได้  โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 8,500 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 7,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่ทำผลงานได้ดีกว่าเป้าหมาย” นายไชยยันต์ กล่าว

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล
ด้านนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN กล่าวว่า ในปีนี้ ลลิลฯ จะมีการต่อยอดการใช้กลยุทธ์ด้าน Digital Marketing เพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพและตรงตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยได้นำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับ Customer Insight  เพื่อนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการที่เข้าถึง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ  รวมไปถึงการยกระดับการบริหารจัดการระบบสารสนเทศภายในองค์กร โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงานในทุกภาคส่วนในองค์กร เพื่อยกระดับสู่ Digital Company อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2565 นี้ จะยังคงให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบที่เป็น Real Demand  ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุค New Normal ได้ดีกว่า เพราะมีพื้นที่สีเขียวในการผ่อนคลาย และมีพื้นที่ใช้สอยที่รองรับการใช้ชีวิต ตอบสนองความต้องการในหลากหลายรูปแบบทั้งการ Work from Home และการเรียนผ่านระบบออนไลน์  ซึ่งบริษัทฯให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่องความสวยงามด้านการออกแบบ และฟังก์ชันการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ   โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ถือเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์รายแรกที่จุดกระแสนิยมในแบบบ้านสไตล์ฝรั่งเศสในประเทศไทยด้วยการออกแบบ French Colonial Style ที่นำความงดงามของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่เรียบหรูมาประยุกต์เข้ากับการสร้างสรรค์ฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตสังคมเมือง บนทำเลศักยภาพในราคาที่คุ้มค่าจับต้องได้

ทั้งนี้ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ยังคงขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ Lalin The Next เพื่อก้าวสู่การเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์เพื่อคนไทย พร้อมมอบประสบการณ์การอยู่อาศัยแบบใหม่ที่ดีกว่า ที่รวม 3 แนวทางหลักเพื่อสร้างการเติบโตจากปัจจุบันสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย Next Dynamic Sustainable การบริหารโดยยึดหลัก  ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน  ด้วยการเป็นองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมองเห็นคุณค่าในการประหยัดพลังงาน มีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ทั้งยังดำเนินกิจการด้วยหลักจริยธรรม ยุติธรรม และโปร่งใส มีการดำเนินกิจการที่ดีเพื่อสร้างผลประกอบการที่ดี โดยมุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความยั่งยืนต่อไป ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรต่างๆ รวมถึงตัวองค์กรเองด้วย  Next Living Experience มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อลูกค้า เฟ้นหาที่ตั้งโครงการในทำเลศักยภาพ  สร้างสรรค์การออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมและดีไซน์ที่ทันสมัยในวิสัยทัศน์แห่ง Trend setter  เลือกสรรวัสดุคุณภาพในการก่อสร้างและตอบโจทย์ในเรื่องของฟังก์ชัน สะท้อนทุกๆการใช้ชีวิตในแบบที่ลูกค้าต้องการ พร้อมส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพ  สร้างประสบการณ์ใหม่ในการอยู่อาศัย  รวมทั้งใส่ใจการบริการหลังการขายให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตอีกระดับให้กับครอบครัวลลิล

โดยได้นำเสนอนวัตกรรมการอยู่อาศัย LI (Lalin Innovation for Living) ที่ครอบคลุม 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.LI-Smart & Security เสริมความสะดวกสบายและระบบรักษาความปลอดภัย

2.LI-Eco System ส่งมอบบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกค้าเพื่อการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน

3.LI-Lively & Healthy “บ้านสุขภาพดี” ให้ความสำคัญต่อเรื่องการถ่ายเทอากาศ การคำนึงถึงทิศทางลมและแสงแดด และคัดสรรวัสดุที่ช่วยลดการสะสมของเชื้อโรค เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการอยู่อาศัย และ Next Innovative Co-Creation เพราะตระหนักดีว่าสินทรัพย์ที่มีค่าสูงสุดคือ “บุคลากร”

ดังนั้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในองค์กรอยู่เสมอ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยมีการจัดตั้ง  Lalin  Academy แหล่งความรู้สนับสนุนบุคลากรในการทำงาน มีการ Training อย่างต่อเนื่อง ทั้ง New Skill, Re-Skill และ Up Skill เป็นการเตรียมพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีการใช้เทคโนโลยี Data Analytics ในการทำงานทั่วทั้งองค์กร ต่อยอดการทำงานในรูปแบบการตลาด Offline สู่ Online ได้เต็มรูปแบบ และทั้งนี้ยังนำมาปรับใช้ในเรื่องการทำงานยุค New normal ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

“ในส่วนภาพรวมสถานะด้านการเงิน กล่าวได้ว่าบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.4 -1.5 เท่า  รวมทั้งมีกระแสเงินสดสำรองเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอีกกว่า 1,000 ล้านบาท  โดยในปี 2565 นี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรงบในการซื้อที่ดินไว้ประมาณ 1,100-1,300 ล้านบาท และพร้อมปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงาน และการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ” นายชูรัชฏ์ กล่าวในที่สุด

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*