ปัจจุบันผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud) ได้วางแผนขยายธุรกิจเข้ามาในเมืองกรุงเทพฯและภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์เติบโตมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 48 ล้านคน ทำให้ผู้ให้บริการคลาวด์จากจีนและสหรัฐฯ หลายรายกำลังเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

จากรายงานการสำรวจล่าสุดของไนท์แฟรงค์ที่จัดทำร่วมกับ DC Byte พบว่า ปัจจุบันมีดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งสิ้นกว่า 50 แห่งในกรุงเทพฯ คิดเป็นการเช่าใช้พื้นที่เก็บข้อมูลหรือพร้อมสำหรับให้เช่ารวม 46 เมกะวัตต์ (MW) ซี่งอยู่ในอันดับ 9 ของเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ขณะที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของอุปทานรวมและปริมาณการเช่าใช้พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ในรอบปีอยู่ที่ 22.7% และ 25.4% ตามลำดับ  แสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีต่อการเติบโตในอนาคตของระบบคลาวด์ในกรุงเทพฯ

ดังนั้นผู้ให้บริการต้องจัดหาพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถรองรับการปล่อยเช่าในระดับหลายเมกะวัตต์ให้แก่บริษัทใหญ่ ๆ อาทิ  Tencent, Amazon และ Microsoft เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจคลาวด์ในประเทศ

โดยในช่วงไตรมาส 1  ที่ผ่านมา กรุงเทพฯมีปริมาณการเช่าใช้พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ประมาณ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้งานระบบคลาวด์แบบสาธารณะเป็นหลัก ขณะที่ปริมาณการเช่าใช้พื้นที่รวมในปี 2564 อยู่ที่ 14.32 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเกือบ 900% จากในปี 2563 ส่งผลให้ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลสนใจลงทุนตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ขณะที่อุปทานรวมของดาต้าเซ็นเตอร์ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 147 เมกะวัตต์ หลังจากที่ NTT ประกาศแผนการขยายโรงงานแห่งที่ 2 ในกรุงเทพฯ ล่าสุด Etix Everywhere ได้เข้าซื้อและกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงงานขนาด 2.4 เมกะวัตต์ที่ดำเนินการโดย Genesis Data Center นอกจากนี้ Singtel ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ได้ลงนามตามข้อตกลงการพัฒนาร่วมกับ Gulf Energy Thailand และ AIS เพื่อร่วมพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วประเทศไทย รวมถึงกลุ่มไรมอนด์ แลนด์   ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ได้ขยายฐานธุรกิจสู่ดาต้าเซ็นเตอร์ โดยร่วมมือกับพันธมิตร Nautilus Data Technologies ผู้พัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ เตรียมเปิดให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยมาตรฐานระดับโลกในประเทศไทย

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะมีปริมาณพื้นที่สำหรับรองรับการใช้งานจริงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือประมาณ 100 เมกะวัตต์ จากการดำเนินธุรกิจคลาวด์ในระดับไฮเปอร์สเกลในภูมิภาค ขณะเดียวกันดาต้าเซ็นเตอร์จะถูกพัฒนาขึ้นใหม่ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อรับมือกับการขัดข้องของระบบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจเป็นอย่างมาก รวมทั้งจะมีการเปลี่ยนผ่านจากเซิร์ฟเวอร์ที่บริษัทเป็นเจ้าของเองไปสู่ระบบคลาวด์สาธารณะเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดเล็ก (Edge data centers) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*