บิ๊กไรมอน แลนด์ฯเผยอยากเห็นความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หวังสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ ระบุปรับขึ้นค่าแรง อาจกระทบภาคธุรกิจ แต่ในฐานะประชาชนถือเป็นเรื่องดี ช่วยคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะค่าครองชีพในกทม.ค่อนข้างสูงด้านภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานปี66 แนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายอาคารสำนักงาน Grade A+ ยังมีน้อยที่สุด ขณะที่ความต้องการยังมีต่อเนื่อง ชี้ 3 เทรนด์ความต้องการอาคารสำนักงานใหม่ปี 66 ล่าสุดเตรียมเปิดตัวโครงการ OCC อย่างเต็มรูปแบบปลายไตรมาส 3/66 คาดถึงปลายปียอดเช่าพื้นที่แตะ 90% พร้อมเดินหน้าผุด 3 โครงการใหม่ระดับอัลตร้าลักชัวรี่ รวมมูลค่า 18,000 ล้านบาท โดยเฉพาะวิลล่าหรู ย่านหาดกมลา จ.ภูเก็ต เคาะราคาเริ่มต้นที่กว่า 600 ล้านบาท/หลัง
นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด(มหาชน) หรือ RML เปิดเผย ถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้งว่า ในฐานะของภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจ ก็อยากจะเห็นความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าใครจะมาบริหารประเทศ  ภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุนทุกฝ่าย ซึ่งหากการเมืองมีความชัดเจนจะทำให้นักลงทุนได้รับทราบแต่ละนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นไปในทิศทางไหน  เพราะเชื่อว่าทุกนโยบายจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในทุกเซกเตอร์อยู่แล้ว แต่ถ้ามีการมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าออกไป ก็ทำใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ดำเนินธุรกิจแบบช่วยตัวเองค่อนข้างมากมาตลอดอยู่แล้ว แต่หากได้รัฐบาลมาช่วยสนับสนุนนโยบายที่ชัดเจน ก็จะทำให้ภาคเอกชนเติบโตแบบก้าวกระโดดและเชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ไกลอีกมาก

โดยขณะนี้มีนักลงทุนที่จะมาเช่าสำนักงานในประเทศไทยและนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท มีสอบถามเข้ามาบ้างถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ไม่ได้เป็นประเด็นให้ตื่นตระหนก ทั้งนี้โดยภาพรวมของประเทศไทย ความมั่นใจค่อนข้างกลับมาพอสมควรแล้วหลังวิกฤติโควิด-19 ยังมีเรื่องการเมืองที่ต่างชาติเฝ้าจับตาดูอยู่ว่า ผลสรุปจะเป็นอย่างไร

“ที่ผ่านมาก็มีชาวต่างชาติที่ชะลอการตัดสินในใจการลงทุนใหม่ๆไปบ้าง แต่บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทที่เคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยแล้ว จะได้รับผลกระทบน้อยเพราะจะทราบดีว่าการเมืองไทยไม่ค่อยมั่นคงอยู่แล้ว และที่ผ่านมาโชคดีว่าภาคเอกชนค่อนข้างแข็งแรงและช่วยตัวเองมาตลอด”นายกรณ์ กล่าว

สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรง  450 บาท/วัน นั้น หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อภาคธุรกิจแน่นอน แต่ถ้ามองในฐานะประชาชนถือเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันค่าครองชีพในกรุงเทพฯแพงมาก ถ้าปรับค่าแรงให้ 450 บาท จะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายกรณ์ กล่าวถึง ภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในปี 2566 นี้ ว่า มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากบริษัท ซีบีอาร์อี(ประเทศไทย)จำกัด (CBRE) พบว่า ในไตรมาส 1/2566  มีพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 9.38 ล้านตารางเมตร ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A+ บนทำเลศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อยู่ที่ 400,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) และเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A บนทำเล CBD อยู่ที่ 900,000 ตารางเมตร รวมถึงเป็นพื้นที่ให้เช่าอาคารสำนักงาน Grade A นอกพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (Non-CBD) อยู่ที่ 520,000 ตารางเมตร จะเห็นได้ว่าอุปทาน (Supply) พื้นที่ให้เช่าในอาคารสำนักงาน Grade A+ มีน้อยที่สุด ในขณะที่ความต้องการยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเทรนด์ความต้องการใหม่ของอาคารสำนักงานในปี 2566 มี 3 เรื่องหลัก คือ

1.อาคารสำนักงานใหม่ที่มีคุณภาพ ทำเลซีบีดี ดึงดูดผู้เช่า

2.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขภาวะที่ดี

3.ระดับอาคารอัจฉริยะ ที่ตอบโจทย์การทำงาน

ส่วนความคืบหน้าโครงการ “One City Centre”(OCC) บิ๊กโปรเจกต์ร่วมทุนกับ มิตซูบิชิ เอสเตท หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำของญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่เศษ ใจกลางซีบีดี ย่านเพลินจิต เป็นอาคารสำนักงานสูง 61 ชั้น หรือ 275.76 เมตร มีพื้นที่เช่าประมาณ 61,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สำนักงาน 86% และพื้นที่ค้าปลีก 14% ราคาเช่าเฉลี่ย 1,500 บาท/ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 8,800 ล้านบาท ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “REIMAGINE YOUR WORLD” ปักหมุดเป็น Happy Workplace และ Lifestyle Destination ศูนย์กลางแห่งใหม่ของโลก ปัจจุบันมีผู้เช่าพื้นที่แล้ว 70% โดยเป็นบริษัทชื่อดังในประเทศไทย สัดส่วน 20% และบริษัทข้ามชาติ สัดส่วน 80%คาดว่าจนถึงปลายปี 2566 มีจะผู้เช่ารวมประมาณ 90% โดยจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในปลายไตรมาส 3/2566 เนื่องจากต้องรอให้สะพานเชื่อมจากบีทีเอสเพลินจิต ที่บริษัทใช้งบในการก่อสร้างประมาณกว่า 20 ล้านบาท แล้วเสร็จเสร็จเสียก่อน

“ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ตอบโจทย์อย่างรอบด้านจึงทำให้ OCC ที่ปัจจุบันมีอัตราค่าเช่าประมาณ 1,500 บาทต่อตารางเมตร ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม ขณะนี้มีอัตราเช่าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก (รีเทล) รวมถึงความสนใจจากผู้เช่าแล้วประมาณ 70% แบ่งสัดส่วนเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก 80% และบริษัทชื่อดังในไทย 20%” นายกรณ์ กล่าว

โดยบริษัทที่เซ็นสัญญาเช่าและสามารถเปิดเผยชื่อได้ ได้แก่ มิตซูบิชิ เอสเตท (Mitsubishi Estate), มิตซูบิชิ เฮฟวี่ (Mitsubishi Heavy), มิตซูบิชิ พาวเวอร์ (Mitsubishi Power), มารูเบนิ (Marubeni), จัสโค (JustCo), ซีบีอาร์อี (CBRE), อะมาดิอุส (Amadeus), คอร์ติน่า วอทช์ (Cortina Watch), และโคคูโย (Kokuyo) นอกจากนี้ยังมีร้านค้าที่พร้อมเปิดให้บริการในไตรมาส 2 อาทิเช่น ดีน แอนด์ เดลูก้า    (DEAN & DELUCA) ร้านกาแฟดังที่ถือกำเนิดมากจากอเมริกา, โอ ปอง แปง (Au Bon Pain) ร้านกาแฟกึ่งเบเกอรี่ ชื่อดังจากอเมริกา, %อาราบิก้า (%Arabica) คาเฟ่ที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น, คาซาน่า (Ksana) คาเฟ่ชาเขียวมัทฉะเข้มข้นชื่อดังจากญี่ปุ่น, แบลคโบบา (BLK.BOBA) ร้านชาไข่มุกออร์แกนิคชื่อดัง, โฟคาฟิเซีย (Focaficial) ร้านขนมปังพรีเมียมจากอิตาลี และลอว์สัน (Lawson) ร้านสะดวกซื้อชื่อดังจากอเมริกา นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ยังเตรียมเปิด Sky Bar ที่ชั้น 61 และร้านอาหาร ที่ชั้น 58 ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงฟู๊ดคอร์ท กินนี่ฟู๊ด (Kinnie Food) ที่รวมร้านอาหารชื่อดังมากมายในราคาที่จับต้องได้มาไว้ที่นี่อีกด้วย ทั้งนี้เรามั่นใจว่าหลัง Sky bridge สร้างเสร็จ จะผลักดันให้อัตราการเช่า OCC เต็มพื้นที่ในต้นปี 2567 และหลังจากที่เปิดใช้บริการ OCC เต็มรูปแบบ จะส่งผลให้ RML มีสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มขึ้นถึง 15-25% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ RML มีสถานะทางการเงินที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตระยะยาว

ขณะเดียวกันในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 18,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแนวราบ 2 โครงการ เป็นโครงการรูปแบบ Branded Residence 1 โครงการที่หาดกมลา จ.ภูเก็ต โดยเป็นโครงการที่มอบให้ Rosewood เป็นผู้บริหารโครงการ ซึ่งเป็นวิลล่าระดับลักชัวรี่แห่งแรกของบริษัทในจังหวัดภูเก็ต ราคาขายเริ่มต้นที่กว่า 600 ล้านบาท มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ,โครงการบ้านเดี่ยวที่กรุงเทพฯทำเลสุขุมวิท 1 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม Branded Residence ในย่านสุขุมวิท 1 โครงการ

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาส 3/2566 จะมีการเริ่มส่งมอบโครงการ Tait Sathorn 12 (เทตต์ สาทร ทเวลฟ์) เป็นโครงการคอนดดมิเนียมสูง 40 ชั้น จำนวน 231 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4,400 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขาย (Presale) แล้ว 92% นอกจากนี้ ยังมีโครงการ The Estelle Phrom Phong (ดิ เอสเทลล์ พร้อมพงษ์) ที่ทยอยโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยลูกค้าของบริษัทฯ เป็นคนไทย 54% ต่างชาติ 46% ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อมากที่สุด คือ อังกฤษ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รัสเซีย อเมริกัน และฝรั่งเศส โดยจะซื้อห้องขนาดใหญ่และเพนท์เฮาส์ ซึ่งในครึ่งปีหลังนี้จะเดินหน้าเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า จากแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ดังกล่าว จะสามารถผลักดันยอดขายในปี 2566 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 6,700 ล้านบาท ซึ่งเติบโตอย่างมียันจากปีก่อนที่มียอดขายเพียง 3,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 บริษัทมียอดขายแล้วที่ 518 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายที่ระดับ 300 ล้านบาท โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2566 รายได้จะเติบโตขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 365.28 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ในปีนี้จะมาจากการส่งมอบโครงการที่อยู่อาศัย 80% และจะมาจากรายได้ประจำ ที่มีจากการเปิดให้บริการโครงการ OCC อาคารสำนักงาน 20%

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*