ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ทำให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จำนวนถึง 89,030 บัญชี วงเงิน 111,796 ล้านบาท คิดเป็น 47.48% ของเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งปี โดย สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,640,593 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,692,170 ล้านบาท NPL 4.27%ของยอดสินเชื่อรวม ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 138,452 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 197.66% เงินฝากรวม 1,448,688 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปีปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท พร้อมมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน  เดินหน้าออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดด้านดิจิทัลให้กับลูกค้า
นายกฤษณ์ เสสะเวช
นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ว่า หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รายได้ของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ประชาชนเริ่มกลับมาตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น  ส่งผลให้ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้จำนวน 89,030 บัญชี วงเงิน 111,796 ล้านบาท คิดเป็น 47.48% ของเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ปี 2566 ที่ 235,480 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 49,908 ราย ส่งผลให้ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เทียบกับ สิ้นปี 2565 ธอส. มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,640,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.65% มีสินทรัพย์รวม 1,692,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.97% เงินฝากรวม 1,448,688 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.27% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 70,045 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 4.27% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.53 % จากสิ้นปี 2565 ที่มี NPL อยู่ที่ 3.74% ของยอดสินเชื่อรวม

อย่างไรก็ตาม ธอส. ได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 138,452 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 197.66% สะท้อนความมั่นคงและความพร้อมในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ตัวเลขกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,534 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.29% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

การที่ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายซึ่งเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง อาทิ โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ที่ยังคงได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียง 3% ต่อปี นานถึง 5 ปีแรก ล่าสุด วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 มีลูกค้ามายื่นขอสินเชื่อแล้ว จำนวน 7,700 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 8,021 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 6,882 ราย วงเงินสินเชื่อ 6,895 ล้านบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรหัสเข้าร่วมโครงการได้ ผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN โดยจะได้รับรหัส 10 หลัก (ตัวอักษร 3 หลัก และตัวเลข 7 หลัก) เพื่อนำมาประกอบการยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือปิดก่อนกำหนดหากเต็มกรอบวงเงินโครงการ โดยธนาคารเชื่อว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 235,480 ล้านบาทเนื่องจากโครงการที่อยู่อาศัยจะมีการส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์  ในช่วงท้ายของปีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับยังมีมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 อาทิ ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากอัตราปกติ 2% เหลือ 1% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจากอัตราปกติ 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทนายกฤษณ์ กล่าว

ขณะที่การดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ธอส.ได้ดำเนินการขยายเวลาลงทะเบียนมาตรการ 23 [M23] : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือลูกค้าที่มีสถานะเป็น NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือหรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าที่เข้าร่วม M23 สามารถเลือกรับความช่วยเหลือตามความสามารถในการผ่อนชำระได้นานสูงสุด2 ปี สำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วม M23 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์   เข้าร่วมมาตรการ พร้อมทั้ง Upload เอกสารให้ธนาคารพิจารณาผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น ธอส.มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (The Best Housing & Sustainable Bank) โดย ธอส. มีแผนในการระดมทุนผ่านพันธบัตรด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ประกอบด้วย พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) พันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และพันธบัตร เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อนำมาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถประหยัดการใช้พลังงาน หรือลดการใช้พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยในโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น อาทิผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข และโครงการบ้าน ธอส.เพื่อคุณ ซึ่งที่ผ่านมา ธอส. ได้ออกและเสนอขายพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 8,500 ล้านบาท และพันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) มูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ดังนั้นในอนาคต ธอส. จึงมีแผนในการออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน(ESG Bond) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ ธอส. เป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนอย่างครบวงจร ขณะเดียวกัน ธอส. ยังคงเดินหน้าสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดด้านดิจิทัลให้กับลูกค้า (Best Digital Experience) ตลอดเส้นทางการใช้บริการของลูกค้า (End-to-End Customer Journey) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุงกระบวนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารแบบครบวงจร ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การปล่อยสินเชื่อ อาทิ การยื่นขอสินเชื่อผ่าน Application : GHB ALL GEN, การวิเคราะห์และประเมินวงเงินสินเชื่อผ่าน Digital Appraisal และการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) เป็นต้น

2.การให้บริการด้านเงินฝาก พัฒนาฟังก์ชันและผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นอาทิ ผลิตภัณฑ์เงินฝากดิจิทัล, บริการ GHB Corporate อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้านิติบุคคลให้เข้าถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากง่ายขึ้นผ่านเว็บไซต์ธนาคาร เป็นต้น

3.การประนอมหนี้ ผ่าน Application : GHB ALL BFRIEND ตั้งแต่การปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึงการชำระเงินงวดตามข้อตกลง

4.การจำหน่ายบ้านมือสอง ธอส.ผ่าน Application : GHB ALL HOME และเว็บไซต์www.ghbhomecenter.com ตั้งแต่กระบวนการดูทรัพย์ จองซื้อทรัพย์ ทำสัญญาจะซื้อจะขาย การขอสินเชื่อ และการโอนกรรมสิทธิ์

นอกจากนี้ ธอส. จะยังคงเดินหน้าพัฒนาการบริการให้กับลูกค้าผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มฟังก์ชันการให้บริการ อาทิ การขอสินเชื่อเพิ่ม, การลงนามทำสัญญาซื้อขายบ้านมือสอง ธอส. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (NPA e-Contract), การขอรับเงินงวด/ การปลูกสร้าง/ต่อเติม, การขอหนังสือรับรองฐานะการเงินเพื่อประกอบการขอวีซ่า และการเชื่อมข้อมูลระหว่าง GHB ALL GEN กับApplication Line GHB Buddy เพื่อความสะดวกในการใช้บริการของลูกค้า เป็นต้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*