ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผยภาพรวมตลาดอสังหาฯปี2566 ปรับตัวลดลงทั้งอุปสงค์และอุปทานจากปัจจัยลบต่างๆ คาดหน่วยโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 377,832 ยูนิต ลดลงจากปีก่อน -3.8% มูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 65,101 ยูนิต ลดลง -20.3%  มูลค่า  376,324 ล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการและรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งปี 2566 จะมีการปรับตัวลดลงทั้งอุปสงค์และอุปทานเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงจากปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาปานกลางถึงต่ำ ซึ่งได้ส่งผลให้มีการปรับตัวลดลงของปริมาณอุปทานที่อยู่อาศัยในปี 2566 ที่ชัดเจน ขณะที่ผู้ประกอบการหันไปเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาปานกลางค่อนข้างสูงถึงราคาสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้ซื้อมีความพร้อมในการขอสินเชื่อมากกว่า คาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน 377,832 ยูนิต ปรับลดลงจากปีก่อน -3.8% และมีมูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1%

เนื่องจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวน 270,650 ยูนิต ลดลง -4.2% แต่มีมูลค่า 766,791 ล้านบาท เพิ่ม 1.6% โดยพบว่ากลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีจำนวนผู้โอนกรรมสิทธิ์มากที่สุดมีหน่วยการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงระหว่าง 5.9 -8.8% ขณะที่กลุ่มบ้านระดับราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไปมีการขยายตัวสูง

โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอุปสงค์ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ 94,946 ยูนิต ลดลง -7.0% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 267,655 ล้านบาท ลดลง -2.6%

ส่วนอุปทานของจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวน 58,556 ยูนิตลดลง -16.4% โดยสินค้าทาวน์เฮาส์ได้รับใบใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุด 22,941 ยูนิต ลดลง -19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 20,917 ยูนิต และบ้านแฝดจำนวน 12,080 ยูนิต โดยเฉพาะไตรมาส 3 มีหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจำนวน 17,087 ยูนิต ลดลงถึง -48.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเป็นการขยายตัวติดลบเป็นไตรมาสแรกในรอบ 7 ไตรมาส ทำให้ประเมินว่าตลอดทั้งปี 2566 จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ 79,232 ยูนิต ลดลง 13.6%

ส่วนอุปทานจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลช่วงไตรมาส 3  มีจำนวน 20,369 ยูนิต ลดลง -14.8% แต่มีมูลค่าสูงถึง 166,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% ขณะที่ภาพรวมช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ทั้งหมด 65,101 ยูนิต ลดลง -20.3%  มูลค่า  376,324 ล้านบาท ลดลง -3.3%โดยสินค้าคอนโดมเนียมมีการเปิดตัวใหม่มากที่สุด  31,626 ยูนิต ลดลง -25.9% รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์จำนวน 14,741 ยูนิต ลดลง -27.1%

สำหรับทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่าจำนวนหน่วยและมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์มีโอกาสขยายตัวได้ 4.0% และ 4.6% โดยคาดว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 392,936 ยูนิต มูลค่า 1.114 ล้านล้านบาท โดยสินค้าบ้านแนวราบยังมีสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 70% และอาคารชุด 30% และด้านอุปทานจะเริ่มกลับมาขยายตัวประมาณ 2% – 4% อีกครั้ง เพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*