การเคหะแห่งชาติรุกหนักปี 2562 เน้นการพัฒนางานก่อสร้างที่มีคุณภาพ ลดงานซ่อมแซม พัฒนาระบบการให้บริการ Smart Device  เตรียมปรับการทำงานให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน พร้อมสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประสานานกระทรวง ICT เตรียมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย (Big Data) เพื่อเป็นฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติในปี 2562 ว่า ได้กำหนดให้เป็น “ ปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม” (Year of Quality and Innovation) เน้นปรับปรุงและพัฒนาแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องคุณภาพการก่อสร้าง หาผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เน้นการควบคุมงานที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การทำงานด้านอื่นๆ ลดน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องของการให้บริการ การนำ Smart Device เข้ามาใช้ทดแทนการทำงานของบุคคลากร โดยร่วมมือธนาคารกรุงไทยนำ OR Code เข้ามาใช้ชำระค่าเช่า / เช่าซื้อ ที่อยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ รวมทั้งยังได้มีการพัฒนา Application ด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เพื่อให้การรับเรื่องงานซ่อมแซมมีความรวดเร็วขึ้น ได้มีการใช้ระบบช่างชุมชนในการแก้ไขซ่อมแซมภายในโครงการ

 

นำระบบเทคโนโลยี BIM ช่วยออกแบบ-ก่อสร้าง หวังลดความผิดพลาด

ด้าน Innovation จะมีการนำโมเดลแบบจำลองสารสนเทศอาคารหรือ Building Information Modeling (BIM) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาสำหรับการออกแบบอาคารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้อง ทั้งในเรื่องของแนวคิดการออกแบบ ระยะเวลาในการก่อสร้าง การควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง รวมถึงการประสานงานกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระบวนการ สามารถลดเวลาในส่วนของการเขียนแบบไปได้อย่างน้อย 30% ทำให้โครงการก่อสร้างเสร็จเร็วกว่าเดิม เพราะแบบก่อสร้างและงานระบบได้ถูกตรวจสอบและแก้ไขในช่วงของการใช้ BIM  แล้วจึงช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน ช่วยประหยัดเวลา สามารถควบคุมต้นทุน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

 

นอกจากนี้ยัง เน้นวัสดุที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำหลักเกณฑ์ Eco – Village มาใช้ซึ่งจะเป็นแนวทางการออกแบบและประเมินโครงการที่คำนึงถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและผลกระทบอันเกิดจากการพัฒนาโครงการ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ เพื่อสร้างชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ Certify, Silver, Gold และ Platinum โดยพิจารณาจาก 4 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ผังโครงการและภูมิทัศน์ หมวดที่ 2 ออกแบบตัวอาคาร หมวดที่ 3 งานระบบ และหมวดที่ 4 การบริหารจัดการ ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการออกแบบทุกโครงการ

 

ร่วม กฟผ.พัฒนาโครงการฉลากบ้านเบอร์ 5

ดร.ธัชพล ยังกล่าวด้วยว่า  การเคหะแห่งชาติยังได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันพัฒนาโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับที่อยู่อาศัย (บ้านเบอร์ 5) ส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สังคมและธรรมชาติ พร้อมสนับสนุนให้มีการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงที่ช่วยลดการใช้พลังงาน รวมถึงยังได้กำหนดวิธีการตรวจประเมินที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งให้การรับรองแบบก่อสร้างและติดฉลากรับรองระดับประสิทธิภาพพลังงานบ้านที่อยู่อาศัยเบอร์ 5

 

ในปี 2561 การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินออกแบบก่อสร้างโครงการนำร่อง 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.บุรีรัมย์ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ปทุมธานี (รังสิตคลอง 5) โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.จันทบุรี โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.สระบุรี (บ้านสวนปากเพรียว) โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ขอนแก่น (เมืองเก่า – กรีนวิลล์ ขอนแก่น) ระยะที่ 2 โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.พระนครศรีอยุธยา (บางปะอิน) ระยะที่ 2 และโครงการประชานิเวศน์ 3

 

เล็งตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยเก็บข้อมูลในรูปแบบ Big Data

 

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติยังพร้อมรับจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย (Big Data) เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งระยะการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 บูรณาการข้อมูลและเชื่อมโยงระบบ การเคหะแห่งชาติจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นศูนย์กลางในการวางระบบและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยเพื่อเผยแพร่

ระยะที่ 2 พัฒนาระบบและขยายโครงข่าย พัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นโดยประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ICT) ในการเชื่อมโยงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งพัฒนาให้เป็นสากล ในปี 2562

และระยะที่ 3 วิเคราะห์ Big Data พัฒนาเต็มรูปแบบ เช่น สามารถวิเคราะห์และเก็บข้อมูลในรูปแบบ Big Data ในปี 2563