ทีมงาน prop2morrow สำรวจความเคลื่อนไหวภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อการลงทุนเชื่อมระหว่างอาคารกับโครงการระบบขนส่งมวลชนนั่นพบว่า บิ๊กเนมเจ้าของธุรกิจทั้งประเภทห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานโรงแรม และคอนโดมิเนียมต่อยอดธุรกิจด้วยการแห่ทุมงบบูมเมืองใต้ดินและสกายวอร์คเชื่อมรถไฟฟ้าทั้ง MRT และ BTS เพื่ออำนวยความสะดวกความสะดวกลูกค้าดึงให้มีการใช้บริการและสร้างยอดขาย รายได้ที่ตามมา

รถไฟฟ้าสีเขียวสายหมอชิต-สุขุมวิทเนื้อหอมขอเชื่อมทางเข้ามากสุด

เริ่มจากทางเชื่อมที่เปิดให้บริการแล้วจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิตพบว่ามีเพียงทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักร เนื่องจากในบริเวณโดยรอบจะเป็นสวนจตุจักร และลานจอดรถของBTS จึงไม่มีอาคารใดๆอยู่ใกล้เคียงสถานีมากนัก แต่จะไปเห็นการเชื่อมต่อที่ชัดเจนตั้งแต่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่เชื่อมไปยังแฟชั่นมอลล์ ,เคเอฟซี และวิคตอรี่ มอลล์

สถานีพญาไท มีการเชื่อมต่อกับซี.พี.ทาวเวอร์ และแอร์พอร์ตลิงค์

สถานีราชเทวี มีการเชื่อมต่อไปยังโรงแรมเอเชีย ซึ่งถือว่าเป็นโรงแรมเก่าแก่ในย่านดังกล่าว

สถานีสยามพารากอน ที่เชื่อมต่อไปยังสยามเซ็นเตอร์,สยามดิสคัฟเวอรี่,สยามพารากอน,เซ็นเตอร์ พอยท์ ออฟ สยามสแควร์และสยามสแควร์วัน

สถานีชิดลม ซึ่งอยู่ใกล้สี่แยกราชประสงค์และแยกชิดลมเป็นสถานีที่มีผู้ประกอบการการเชื่อมต่อทางเดินไปยังตัวอาคารมากที่สุด ได้แก่ เซ็นทรัล ชิดลม,เมอคิวรี่ ทาวเวอร์,อาคารมณียาเซ็นเตอร์,อัมรินทร์ พลาซ่า,โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ,เกษรพลาซ่า,เซ็นทรัลเวิลด์,ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และแบงคอก สกายไลน์

สถานีเพลินจิต จะเชื่อมต่อไปยังอาคารปาร์ค เวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ และโรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ,อาคารเวฟ เพลส,โครงการโนเบิล เพลินจิตและเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่

สถานีนานา มีโครงการคิว คอนโด สุขุมวิท ของบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน)ที่อยู่ระหว่างการก่อร้างทางเชื่อมเข้าโครงการ

สถานีอโศกที่เชื่อมหลายอาคารด้วยกัน รองจากสถานีชิดลมได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท ,โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ เทอมินอล 21,โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ,ห้างโรบินสัน,อาคารไทม์สแควร์ ส่วนฝั่งตรงข้ามถนเมื่อเดินข้ามสกายวอล์กจะเป็นการเชื่อมต่อกับอาคารอินเตอร์เชนจ์21และฝั่งตรงข้ามคือเอ็กซ์เชนจ์ ทาวน์เวอร์

สถานีพร้อมพงษ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรของกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่เชื่อมต่อไปยังดิ เอ็มโพเรียม ,ดิ เอ็มควอเทียร์ และอนาคตเมื่อ ดิเอ็มสเฟียร์ แล้วเสร็จก็จะเป็นสถานีที่เชื่อม 3 อาคาร

สถานีทองหล่อแม้จะเป็นทำเลที่มีที่ดินแพงและมีคอนโดฯ,โรงแรมอยู่หลายโครงการ แต่ส่วนใหญ่จะเข้าไปในซอยสุขุมวิท55 ปัจจุบันจึงมีจุดเชื่อมทางเดินไปยังโครงการโนเบิล รีมิกซ์ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

สถานีเอกมัยจะมีทางเชื่อมไปยังเกตเวย์ เอกมัย ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ,เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท(เอกมัย)และโครงการณุศาศิริ แกรนด์ คอนโด

สถานีพระโขนง ไม่มีการเชื่อมกับอาคารใดๆ

สถานีอ่อนนุช มีทางเชื่อมไปยังเทสโก้ โลตัส เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนจากสถานีบางจากถึงสถานีสำโรง ปัจจุบันยังไม่มีเอกชนขอเชื่อมต่อเข้าอาคารของตนเองแต่อย่างใด จะมีเห็นชัดเจนในอนาคตก็คือบริษัท แมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDCที่จะขอเชื่อมจากสถานีปุณณวิถีไปยังโครงการวิสซ์ดอม วัน โอ วัน(101)ที่ในอนาคตจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วิสซ์ดอม วัน โอ วัน ทรู ดิจิทัล พาร์ค” และโปรเจกต์ยักษ์ “แบงค็อกมอลล์” ของกลุ่มเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ที่จะเชื่อมต่อกับเอกชนได้ที่สถานีบางนา

จับตาสายสีทอง3สถานี2,000ล้านบาท

จากBTS เส้นสุขุมวิทย้อนกลับมาที่สายสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า โดยสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ มีทางเชื่อมต่อเข้าไปยังเอ็มบี เค เซ็นเตอร์ (มาบุญครอง) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯถัดมาเป็นสถานีราชดำริ ที่เชื่อมต่ออาคารเพียงแห่งเดียวคือโรงแรม เดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ จากนั้นเป็นสถานีศาลาแดง(สีลม) ที่เชื่อมต่อกับเซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์,อาคารสีลม64 ,อาคารธนิยะ พลาซ่า และสถานีรถไฟฟ้าสีลม

ถัดไปเป็นสถานีช่องนนทรี ที่เชื่อมกับอาคารสาทรสแควร์, สาธรนคร ทาวเวอร์ และโครงการมหานคร คิวบ์ จากนั้นไปยังสถานีสุรศักดิ์ ที่มีทางเชื่อมต่อกับโรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ซีอีโอแห่งบีทีเอส กรุ๊ป ส่วนสถานีตากสิน-บางหว้า ยังไม่มีการเชื่อมต่อไปยังอาคารใดๆ แต่จะมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีทอง จากสถานีกรุงธนบุรีที่เชื่อมไปอีก3 สถานี ซึ่งเป็นการลงทุนโดยกลุ่มสยามพิวรรธน์ และพันธมิตรที่พัฒนาโครงการไอคอนสยาม ได้ทุ่มงบประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อให้กทม.สร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบาหรือโมโนเรล ที่เชื่อมต่อมาจากสถานีกรุงธนบุรี มีระยะทางทั้งหมด2.7 กม. มีด้วยกัน 3 สถานี เพื่อเสริมศักยภาพให้กับโครงการไอคอนสยาม

จ่อเชื่อมในอนาคตอีกเกือบ20อาคาร

ทั้งนี้จากข้อมูลของบีทีเอส กรุ๊ป เปิดเผยว่าขณะนี้มีเอกชนที่ขอเชื่อมทางเดินจากบีทีเอสเข้าสู่อาคารและอยู่ในระหว่างการก่อสร้างจำนวน 2 แห่งคือ เอ็ม.บี.เค.เซ็นเตอร์(ส่วนต่อขยาย) บริเวณสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และโครงการคิว คอนโด สุขุมวิท ของบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน)บริเวณสถานีนานา

 

ส่วนที่อยู่ในระหว่างการขออนุญาตเพื่อก่อสร้างทางเชื่อมมี 6 แห่ง 4 สถานี คือ โครงการโรงแรมRosewood BKK, โครงการกรุงศรี เพลินจิต ทาวเวอร์,การไฟฟ้านครหลวง บริเวณสถานีเพลินจิต ,โรงแรม แอท รีเจนซี ของบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทล แอนด์พรอพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) บริเวณสถานีนานา ,Solaria Nishitetsu Hotel Bangkok บริเวณสถานีอโศก และทางเชื่อมสถานีหมอชิต

 

นอกจากนี้ยังมีทางเชื่อมที่อยู่ในระหว่างการหาผู้รับเหมาก่อสร้างอีก 3 แห่ง 3 สถานี คือ เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ บริเวณสถานีช่องนนทรี, เพลินจิต อาเขต บริเวณสถานีเพลินจิต และW-District ของบริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริเวณสถานีพระโขนง

 

และยังมีที่อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลอยู่อีกจำนวน 5สถานี ได้แก่ สหกรณ์พระนคร สถานีอารีย์, บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์,โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สถานีสะพานควาย,แชงกรี-ลา สถานีสะพานตากสิน,รอยัล เลอ เมอริเดียน สถานีชิดลม และโครงการบริเวณสุขุมวิท6 สถานีนานา

รฟม.อนุมัติเพิ่มอีก4แห่ง

สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ทางเดินคนโดยสาร หรือทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้ากับอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ซึ่งมีทั้งทางเชื่อต่ออาคารที่เปิดให้บริการและที่อยู่ในระหว่างการขออนุญาตและจะเปิดให้บริการในอนาคต แบ่งเป็น

 

1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้แก่ สถานีพระราม 9 รฟม. ได้อนุญาตให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ไนน์ สแควร์ จำกัดเชื่อมต่ออาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาพระราม 9 กับทางขึ้น – ลงที่ 2 สถานีพระราม 9 ของ รฟม. บริเวณ B1 (ชั้นใต้ดินชั้นที่1) โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2554

 

นอกจากนี้ยังได้อนุญาตให้บริษัท พระราม 9 สแควร์ จำกัด เชื่อมต่อระหว่างอาคารสำนักงาน Rama 9 square กับบริเวณทางขึ้น – ลงที่3 สถานีพระราม 9 ของ รฟม. บริเวณชั้น B1 (ชั้นใต้ดินชั้นที่ 1) โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2560

 

สถานีเพชรบุรี บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ขออนุญาตเชื่อมต่อในระดับใต้ดินระหว่างโครงการสิงห์ คอมเพล็กซ์กับสถานีเพชรบุรี ฝั่งสถานฑูตญี่ปุ่น (เดิม) โดยปัจจุบันบริษัทฯกำลังดำเนินการประสานแบบก่อสร้างเชื่อมต่อฯกับ รฟม.

 

สถานีสุขุมวิท รฟม. ได้อนุญาตให้ บริษัท บี แอนด์ จี พาร์ค จำกัด เชื่อมต่อทางเดินอาคาร Interchange ของบริษัทกับทางขึ้น-ลงที่ 2 สถานีสุขุมวิท ในระดับพื้นดิน (G Level) โดยอนุญาตให้เชื่อมต่อฯ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2552

 

สถานีสามย่าน ได้อนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น – ลงที่ 2 สถานีสามย่าน บริเวณชั้น B1 (ชั้นใต้ดินชั้นที่ 1) กับอาคารจัตุรัสจามจุรี โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม2551 นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขออนุญาตเชื่อมต่อระหว่างทางขึ้น – ลงที่ 2 สถานีสามย่าน กับโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์เพิ่มเติม โดยทางโกลเด้นแลนด์ได้เป็นผู้ออกงบประมาณในการก่อสร้างครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท เพื่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมระยะทาง 200 เมตรไปยังรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสามย่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างลงนามในใบอนุญาตให้เชื่อมต่อฯ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2562

 

ส่วนสถานีสีลม ปัจจุบันยังไม่มีการเชื่อมต่อไปยังอาคารใดๆ แต่ในอนาคตเมื่อดำเนินการทุบโรงแรมดุสิตธานีทิ้งและก่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสที่ร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้สิทธิเช่าเพิ่มจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บนที่ดิน 23 ไร่ ก็จะสร้างอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลม ในอนาคต

 

สถานีลุมพินี ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการ”วันแบงค็อก”ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีแผนจะสร้างอุโมงค์เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสถานีสวนลุมพินีเช่นกัน

 

2.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (ช่วงบางใหญ่ –บางซื่อ) สถานีตลาดบางใหญ่ รฟม. ได้อนุญาตให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (บริษัท แวนเทจ กราวด์ จำกัด (เดิม)) เชื่อมต่อทางเดินยกระดับ(Sky Walk) ระหว่างโครงการเซ็นทรัล เวสต์เกท กับสถานีตลาดบางใหญ่ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559

 

นอกจากนี้ยังได้อนุญาตให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)ก่อสร้าง Fly Over และทางเดินยกระดับกว้าง 4.5 เมตร เพื่อเชื่อมต่อเข้าโครงการเซ็นทรัล เวสต์เกท โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559

 

และได้อนุญาตให้บริษัท เซ็นคาร์ จำกัด เชื่อมต่อตัวอาคารศูนย์การค้าบิ๊กซี บางใหญ่ กับสถานีตลาดบางใหญ่ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2559

 

สถานีบางกระสอ รฟม. ได้อนุญาตให้บริษัท เซ็นคาร์ จำกัด เชื่อมต่อตัวอาคารศูนย์การค้าบิ๊กซี รัตนาธิเบศร์ กับสถานีบางกระสอ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560

 

3 โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง – บางแค และ บางซื่อ – ท่าพระ)

สถานีหลักสอง รฟม. ได้อนุญาตให้บริษัท ธนบุรีเรียลเอสเตท จำกัด เชื่อมต่อศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางแคกับสถานีหลักสอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างทางเชื่อมต่อ

 

สถานีภาษีเจริญ ได้อนุญาตให้บริษัท ซีคอน บางแค จำกัด เชื่อมต่อศูนย์การค้าซีคอนบางแคกับสถานีภาษีเจริญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างลงนามในใบอนุญาตให้เชื่อมต่อ

 

เอกชนขอเชื่อมสายสีเขียวอีกเพียบ

ส่วนสายสีเขียว(หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)กลุ่มเซ็นทรัลฯ ได้ขอสร้างทางเดินเชื่อมกับห้างฯเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว บริเวณสถานีห้าแยกลาดพร้าว กลุ่มเมเจอร์ฯและธนาคารไทยพาณิชย์ขอสร้างทางเชื่อมกับสถานีรัชโยธิน และตลาดยิ่งเจริญของตระกูล “ธรรมวัฒนะ” ขอสร้างทางเชื่อมกับสถานีสะพานใหม่

 

ด้านสายสีเขียว(แบริ่ง-สำโรง)ทางเทศบาลสมุทรปราการได้ขอสร้างทางเดินเชื่อมสถานีสมุทรปราการกับหอชมเมือง นอกจากนี้มี “ศูนย์การค้าโรบินสัน สมุทรปราการ” ขอเชื่อมทางเดินกับสถานีแพรกษา และโครงการ “โมโทรโพลิส” ของกลุ่มว่องไววิทย์ จะสร้างทางเชื่อมกับสถานีสำโรง เป็นต้น

 

กว่ารถไฟฟ้าสายสีต่างๆจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการคงมีเอกชนธุรกิจต่างๆขอเชื่อมทางเดินเข้าตัวอาคารอีกเป็นจำนวนมาก เรียกว่าใครไวกว่าก็ได้เปรียบ ทุ่มงบประมาณในวันนี้ดีกว่าไปเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต