เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวได้ระบุถึงข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้เช่าต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันจำนวน 13 ข้อ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มนักลงทุนที่ซื้อคอนโดฯเพื่อปล่อยเช่า ได้รับผลประทบจากกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากหวั่นว่าการเก็บเงินประกันไม่เกิน 1 เดือน จะไม่คุ้มค่าหากกรณีที่ผู้เช่าเกิดทำทรัพย์สินภายในห้องเช่าเสียหายที่มีมูลค่ามากกว่าเงินประกันที่เก็บล่วงหน้าไว้ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับโดยดุษฎีเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นี้

 

 

 

ผู้ประกอบการรับผลกระทบมั่นใจไม่ถึงขั้นปิดธุรกิจ

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สาระของประกาศดังกล่าวจะไม่รวมไปถึงสัญญาฉบับเดิมที่ผู้ให้เช่ากับผู้เช่าทำสัญญากันไว้ก่อนหน้านั้น ซึ่งสามารถคงไว้ได้ก่อนจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาฉบับเดิม  หลังจากนั้นผู้ให้เช่าจะต้องทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่ตามประกาศฯ โดยผู้ให้เช่าจะต้องปฏิบัติตามที่ประกาศกำหนดไว้ และห้ามใส่ข้อความเกินจากที่กำหนด หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด มีโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ทั้งนี้จากประกาศดังกล่าวจะเห็นว่ามีความเป็นกลางสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค แม้ว่าจะมีการร้องเรียนจากผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ประกาศก็มีกติกาชัดเจนมากขึ้น สามารถวินิจฉัยได้มากขึ้นเช่นกัน โดยที่ไม่ต้องฟ้องศาลหากทุกคนยอมรับในกติกา ในส่วนของผู้ประกอบการเองนั้นหลังจากที่ประกาศฯออกมาแล้ว บางรายยังมีความกังวลเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่เกรงว่าจะดำเนินการไม่ถูกต้อง ซึ่งทางคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา (คกส.)พร้อมยินดีที่จะให้คำปรึกษาและรับความเห็นได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 30 วัน หลังจากที่ผู้ประกอบการยื่นขอไปแล้ว หากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดและ คกส.ยังไม่มีการให้ความเห็นใดๆ ทางผู้ประกอบการสามารถนำสัญญาฉบับเดิมไปใช้ได้โดยที่ไม่ผิดกฎหมายทางอาญาแต่อย่างใด

 

 

“ประกาศฉบับนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการแน่นอน ซึ่งรวมไปถึงนักลงทุนที่ซื้อคอนโดฯเพื่อปล่อยเช่าเกิน 5 ยูนิตขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นธุรกิจและเข้ากับเงื่อนไขในประกาศฯ แต่คงไม่ถึงขั้นทำให้เลิกซื้อคอนโดฯเพื่อปล่อยเช่าน้อยลง เพราะน้ำหนักจะไปอยู่ฝั่งผู้บริโภค แต่สคบ.ก็สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไม่แย่จนถึงขั้นขาดทุนและธุรกิจอยู่ไม่ได้ หรือหากผู้ประกอบการไม่เข้าใจในรายละเอียดของประกาศฉบับใหม่ทาง คสก.ก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำ ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบถูกผู้บริโภคโกงไม่จ่ายเงินค่าเช่า หรือค้างค่าเช่าเกินระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้”นายพิฆเนศ กล่าว

 

 

 

เตรียมปชส.รับทราบทั่วประเทศภายใน2เดือน

และเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยได้รับทราบถึงเงื่อนไขสัญญาของประกาศฉบับใหม่ ทางพลตำรวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ได้มอบหมายให้ทีมงานลงพื้นที่เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัดทราบกันโดยทั่วถึง โดยภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 นี้ ทางสคบ.ได้วางแผนที่จะลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในเขตกทม.-ปริมณฑล ให้ทราบอย่างทั่วถึง ก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นี้ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดก็จะประสานงานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศช่วยทำการประชาสัมพันธ์ ภายในระยะเวลา 2 เดือนนี้

 

ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยและนักลงทุนอาจจะต้องรับสภาพกับประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ และต้องศึกษาหาช่องว่างของกฎหมายที่ไม่ได้บังคับออกมาใช้กันต่อไป เพื่อแก้ปัญหาการถูกโกงหรือบิดพลิ้วจากผู้เช่าต่อไป