รฟม. เร่งศึกษาโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมแยกรัชดา-ลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธินระยะทาง 2.6 กิโลเมตร คาดเริ่มก่อสร้างปี 2562

 

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยถึงการเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (แยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน) โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ ร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ รวมถึงได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ซึ่ง รฟม. จะนำไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงแนวทางการศึกษาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสมฯ ส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีแนวคิด มาจากการต่อขยายโครงข่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรองตามแนวถนนลาดพร้าวและถนนศรีนครินทร์ ทำหน้าที่รองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และป้อนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่นๆ 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (มีแผนเปิดให้บริการในปี 2566) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ (มีแผนเปิดให้บริการปลายปี 2561) โดยหากสามารถต่อขยายโครงข่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากบริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนรัชดาภิเษก จนถึงบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (มีแผนเปิดให้บริการในปี 2563) ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในการขนส่งผู้โดยสารด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของ รฟม. ในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

ส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (แยกรัชดา – ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน) ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง คือ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ที่มีสมรรถนะสูง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 25,000 – 30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีลักษณะโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่สถานีรัชดา (YL-01) ซึ่งอยู่ใกล้กับอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) สถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยทางวิ่งจะอยู่เหนือแนวเกาะกลางของถนนรัชดาภิเษก มีสถานี YLEX-01 อยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม จากนั้นวิ่งไปตามแนวเกาะกลาง แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางออกจากเกาะกลางไปทางซ้ายตามแนวถนนรัชดาภิเษก เพื่อหลบอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกรัชโยธิน มีสถานี YLEX-02 ตั้งอยู่เหนือทางเท้าบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และมีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต รวมระยะทางส่วนต่อขยายประมาณ 2.6 กิโลเมตร มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาอยู่ห่างจากศูนย์กลางแนวเส้นทางออกไปข้างละ 500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 แขวง ได้แก่ แขวงจอมพล แขวงจันทรเกษม แขวงจตุจักร และแขวงลาดยาว ในเขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ ถนนรัชดาภิเษก เป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นต้น