ซีพี ส่อคว้าไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เสนอให้รัฐอุดหนุนเงินทุนน้อยที่สุด จากกรอบวงเงิน 119,000 ล้านบาท คณะกรรมการเรียกชี้แจงข้อมูลเพิ่มอีกครั้ง ไม่เกิน 21 ธ.ค.61 นี้ พร้อมให้โอกาสกลุ่มบีเอสอาร์ร่วมเปิดซองประมูลรอบถัดไป มั่นใจทุกขั้นตอนอยู่ในกรอบเวลา

 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 220,000 ล้านบาท ได้มีการพิจารณาซองที่ด้านการเงิน ของผู้ที่เสนอราคา 2 กลุ่ม คือ 1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ 2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, China Railway Construction Corporation Limited  หรือ CRCC (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และยังมีพันธมิตรรายอื่นอีก เช่น Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น) CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน) China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Siemen (ประเทศเยอรมนี) Hyundai (ประเทศเกาหลี) Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นต้น

 

โดยในเบื้องต้นกลุ่มซีพีเป็นผู้ที่เสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด จากกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ประมาณ 119,000 ล้านบาท โดยต่ำกว่ากิจการร่วมค้าบีเอสอาร์แต่เนื่องจากยังไม่สามารถชี้แจงความเชื่อมโยงของตัวเลขที่เสนอมาในแต่ละส่วนได้ทางคณะกรรมการฯ จึงเรียกได้ให้กลุ่มซีพี มาชี้แจงเพิ่มเติม แต่ทางซีพี ขอระยะเวลาส่งข้อมูลชี้แจงในสัปดาห์หน้า ไม่เกินวันที่ 21 ธันวาคม 2561 แต่ถ้าหากข้อมูลพร้อม ก็อาจจะนัดประชุมเร็วกว่านั้น

 

ขณะที่กลุ่มบีเอสอาร์เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงกว่า 119,000 ล้านบาท แต่ยังไม่พบปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล คณะกรรมการฯ จึงยังไม่ได้เรียกกลุ่ม BTS เข้าหารือ อย่างไรก็ตามหากผู้เข้าประมูลทั้ง 2 ราย สามารถแสดงความเชื่อมโยงและความชัดเจนของข้อมูลทั้งหมด ก็จะผ่านข้อเสนอซองที่ 3 ทั้งคู่ สำหรับ BTS ซึ่งเสนอราคามากกว่าเพดานการอุดหนุน 119,000 ล้านบาท ก็สามารถผ่านการพิจารณาซองที่ 3 ได้ เพราะถ้าหากให้ผู้เสนอขอรับวงเงินอุดหนุนสูง 119,000 ล้านบาท สูงกว่าสอบตกในซองที่ 3 แล้ว แต่หากรัฐบาลเจรจากับเอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนต่ำกว่า 119,000 ล้านบาทไม่สำเร็จ ก็เท่ากับจะต้องล้มประมูลและร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ใหม่ทั้งหมด

 

ทั้งนี้ เมื่อทราบผลข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงินแล้ว คณะกรรมการฯ จะเรียกผู้ที่เสนอวงเงินอุดหนุนต่ำกว่ามาเปิดข้อเสนอพิเศษซองที่ 4 และเจรจาการลงทุนกับรัฐบาลก่อน ใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยข้อเสนอซองที่ 4 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการไม่มีผลต่อผลการประมูล โดยหากเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำกว่าสำเร็จ เอกชนรายนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำสุดไม่ได้ ก็จะเรียกเอกชนอีกรายมาเปิดข้อเสนอซองที่ 4 และเจรจาเป็นรายถัดไป โดยเชื่อว่าการพิจารณาข้อเสนอในการประมูลทั้งหมดยังเป็นไปตามกรอบเวลา