ตลาดคอนโดมิเนียมในประเทศไทยชะลอตัวลงแบบชัดเจนทั้งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลโดยตรงต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป การปิดโครงการพื้นที่ค้าปลีกหรือการปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรของหลายๆบริษัทมีผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของคนไทยที่ความเชื่อมั่นลดลงและเลือกที่จะใช้จ่ายลดลง การซื้อที่อยู่อาศัยในตอนนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่สำหรับคนที่มีความพร้อมกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพราะสามารถได้ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมในราคาไม่สูงอีกทั้งยังมีของแถมหรือส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมอีก แต่สำหรับคนทั่วไปก็ยากลำบากในการขอสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบชัดเจนทั้งธุรกิจการบิน สนามบิน โรงแรม การท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่คำสั่งซื้อหรือยดการผลิตลดลงจนต้องปิดกิจการชั่วคราวและถาวรมากขึ้นแบบที่เห็นนข่าว โครงการที่อยู่อาศัยรอบสนามบิน รอบนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งงได้รับผลกระทบบ้างแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครรายไตรมาส ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563

ที่มา: ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่าคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีทั้งหมดประมาณ 1,200 ยูนิตลดลงจากไตรมาสที่ 1ปี 2563  ประมาณ 74% เป็นจำนวนคอนโดมิเนียมปิดขายใหม่ใน 1 ไตรมาสต่ำที่สุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 1ปี 2563 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพียงประมาณ 5,800 ยูนิตแน่นอนว่ายังคงต่ำที่สุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครรายไตรมาสและราคาขายเฉลี่ย

ที่มา: ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่

คอนโดมิเนียมที่เปิดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เป็นคอนโดมิเนียมในช่วงราคาไม่เกิน 100,000 บาทต่อตารางเมตรมากถึงประมาณ77% ของจำนวนคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ประกอบการเลือกเปิดขายโครงการราคาไม่แพงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราการขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 36% เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของกำลังซื้อได้เป็นอย่างดีว่าอยู่ในภาวะถดถอยแบบชัดเจน และการที่ผู้ประกอบการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ลดลงในช่วง 6 เดือนแรกของปีก็เป็นการแสดงออกชัดเจนของผู้ประกอบการว่าพวกเขาให้ความสนใจโครงการคอนโดมิเนียมลดลงแต่ไปเพิ่มสัดส่วนของโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้น

ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คงยังไม่แตกต่างจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้เท่าใดนัก เพราะปัจจัยลบต่างๆ ยังคงไม่ได้แตกต่างจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงในบางเรื่อง เช่น เรื่องของการเมือง เป็นต้น และการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของชาวต่างชาติก็ยังคงไม่ชัดเจน แม้ว่าอาจจะมีการเปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ในบางกลุ่มแต่ก็คงไม่ได้กลับไปสู่ภาวะปกติแบบก่อนหน้านี้ ซึ่งถ้าการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังคงไม่กลับมาแบบก่อนหน้านี้ก็คงยากที่ภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาแบบเดิมและความเชื่อมั่นของคนไทยก็ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวแบบที่เป็นมาผู้ประกอบการทุกรายคงเลือกที่จะปิดการขายโครงการที่สร้างเสร็จแล้วต่อไปลดการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ และเพิ่มสัดส่วนโครงการบ้านจัดสรรให้มากขึ้นแบบช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในปีนี้คงอยู่ในช่วงประมาณ 20,000 -25,000 ยูนิต ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบชัดเจนส่วนบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครก็ลดลงเช่นกัน แต่ลดลงในสัดส่วนที่ไม่มากนัก โดยอาจจะมีจำนวนบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 29,000 – 30,000 ยูนิตน้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ที่มีบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ประมาณ 45,000 – 50,000 ยูนิตต่อปี

ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายจะยังพยายามหาเงินทุนในการพัฒนาโครงการจากช่องทางอื่นๆที่ไม่ต้องพึ่งพาธนาคารมากขึ้นทั้งการออกหุ้นกู้ซึ่งมีให้เห็นหลายรูปแบทั้งแบบระยะสั้น ระยะยาว และแบบไม่จำกัดระยะเวลาซึ่งอัตราผลตอบแทนก็แตกต่างกันไปและอาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารแต่พวกเขาเลือกที่จะระดมทุนแบบนี้เพื่อความรวดเร็วในการพัฒนาโครงการใหม่ รวมไปถึงการหาพันธมิตรมาร่วมพัฒนาโครงการเพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องใช้ทุนของบริษัทแบบ 100%

ในการลงทุนซึ่งวิธีการแบบนี้สามารถทำได้เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายกลางในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กนอกตลาดหลักทรัพย์คงต้องพยายามประคองสถานะของบริษัทให้รอดต่อไปในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบรุนแรงแบบนี้ และคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 1-2 ปีจึงจะเห็นการฟื้นตัว

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*