การประกาศปิดโครงการพื้นที่ค้าปลีกชั่วคราวไปกว่า1เดือนกว่าๆส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านค้าและผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงการพื้นที่ค้าปลีกเพราะขาดรายได้แม้ว่าร้านค้าและผู้เช่าต่างๆจะมีสัญญาเช่าอยู่กับผู้ประกอบการเจ้าของโครงการแต่การที่ต้องปิดร้านตามคำสั่งหน่วยงานราชการนั้นสร้างผลกระทบแน่นอน โดยนายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวให้ความเห็นว่า การขอลดค่าเช่าจากเจ้าของโครงการนั้นมีความจำเป็นมา และในขณะเดียวกันเจ้าของโครงการก็จำเป็นต้องลดค่าเช่าเพราะไม่อย่างนั้นผู้เช่าหลายรายอาจจะเลือกที่จะขอยกเลิกสัญญาเช่า เนื่องจากไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ภาพรวมตลาดพื้นที่ค้าปลีกในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 จึงออกมาในรูปแบบที่เงียบเหงาโครงการเปิดใหม่มีน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดัชนีค้าปลีกในไตรมาสที่ 1 ติดลบ 3 – 7%  ส่วนในไตรมาสที่ 2 มีความเป็นไปได้ที่จะติดลบ 20 – 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อุปทาน :ภาพรวมตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2563

ที่มา: ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่

ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่ 50,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ดังนั้น ตลอดช่วงครึ่งแรกปี 2563 มีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่เพียง 55,000 ตารางเมตรเท่านั้นน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากช่วงปี 2563 – 2564 มีโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีกำหนดการเปิดให้บริการไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และโครงการส่วนใหญ่ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 เป็นศูนย์การค้ามากกว่าโครงการพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบอื่นๆ โดยมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่กำลังก่อสร้างและมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2566 อีกประมาณ 900,000 ตารางเมตร พื้นที่ค้าปลีกสะสมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบอยู่ที่ประมาณ 8,493,200 ตารางเมตร แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้นจะมีพื้นที่ค้าปลีกรวมประมาณ 6,496,700 ตารางเมตร

โครงการพื้นที่ค้าปลีกโดยเฉพาะคอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกอาจจะประสบปัญหาในเรื่องของผู้เช่าที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 – 2 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบแบบชัดเจนขึ้นหลังจากผ่านไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว แม้ว่าโครงการพื้นที่ค้าปลีกจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เป็นการเปิดให้บริการภายใต้ข้อจำกัดซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ผู้เช่าบางรายจึงเลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราวไปก่อนในช่วงนี้

พื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่เปรียบเทียบรายปี

ที่มา: ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่

โครงการพื้นที่ค้าปลีกที่เปิดให้บริการในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมากกว่าแบบชัดเจน อาจจะมีบางปีที่มีโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดให้บริการในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร แต่โครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกหรือในจังหวัดปริมณฑล เนื่องจากราคาที่ดินที่ยังไม่สูงเกินไปสามารถพัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีกได้

อัตราการเช่าในบางโครงการเริ่มเห็นพื้นที่ว่าง หรือการขอยกเลิกสัญญาเช่าบ้างแล้ว และอาจจะเห็นมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้ภาพรวมของอัตราการเช่าเฉลี่ยในบางพื้นที่ลดลง แม้ว่าในภาพรวมแล้วอัตราการเช่าของโครงการพื้นที่ค้าปลีกประเภทต่างๆ จะยังอยู่ในอัตราสูงกว่า 92% ขึ้นไป

ผู้เช่าทั้งรายใหญ่ และรายเล็กในโครงการพื้นที่ค้าปลีกต่างๆ อาจจะยังคงพื้นที่เช่าของตนเองไว้ก่อนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แต่ถ้าภาวะการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นหรือภาวะเศรษฐกิจหลังจากผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปแล้วยังไม่ฟื้นตัวก็คงเห็นพื้นที่ว่างในโครงการพื้นที่ค้าปลีกมากขึ้นแน่นอน

ค่าเช่าเฉลี่ยของโครงการพื้นที่ค้าปลีกแต่ละประเภทจะแตกต่างกันรวมไปถึงทำเลที่ตั้งของโครงการก็มีผลต่อค่าเช่าด้วยเช่นกัน คอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกหรือในจังหวัดปริมณฑลไม่สามารถเรียกค่าเช่าพื้นที่ได้สูงเมื่อเทียบกับโครงการที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับเมืองชั้นในมากกว่า โครงการพื้นที่ค้าปลีกเกือบทั้งหมดจำเป็นต้องลดค่าเช่าหรือยกเว้นค่าเช่าให้กับผู้เช่าในช่วงที่โครงการปิดการให้บริการตามคำสั่งของหน่วยงานราชการรวมไปถึงช่วงเวลาหลังจากที่โครงการพื้นที่ค้าปลีกกลับมาเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบแล้ว เนื่องจากข้อจำกัดของการใช้บริการภายใต้เงื่อนไข Social Distancing ในโครงการพื้นที่ค้าปลีกมีผลให้การให้บริการของผู้เช่าหลายรายยังไม่สะดวกแบบก่อนหน้านี้โดยเฉพาะร้านอาหารจึงมีผลให้รายได้ของพวกเขาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*