จับตาหลังรัฐบาลเรียกสมาคมอสังหาฯ-บริษัทโบรกเกอร์ และตัวแทนผู้ประกอบการ รวม 11 องค์กร เข้าพบแสดงวิสัยทัศน์ต่อนายกรัฐมนตรี ภายใต้กรอบ 5 หัวข้อหลัก หวังนำพาประเทศสู่ความสำเร็จ ด้านเอกชนระบุอยากให้ปรับปรุงการทำงานของกทม.-หน่วยงานในสังกัดอปท.เและกรมโยธาฯพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว อย่าสร้างต้นทุนแฝง มิเช่นกันภาระจะไปอยู่ที่ผู้บริโภค

สืบเนื่องจากได้มีหนังสือจากรัฐบาลถึงภาคธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจอสังหาฯซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่จะมีการเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ในวันพฤหัสบดี ที่ 3 กันยายน 2563 เวลา 9.30-11.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์ และความคิดในการขับเคลื่อนภาคส่วนของแต่ละธุรกิจ โดยหากความคิดที่นำเสนอนั้น มีความชัดเจนสมเหตุสมผลสำหรับทุกภาคส่วนของสังคม และมีประโยชน์กับประเทศ จะช่วยให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น และสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และต้องการความรู้ความสามารถเฉพาะทางของภาคเอกชนมาเชื่อมกับความรู้ความสามารถของภาครัฐ โดยจำกัด 5 หัวข้อหลักในการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่

1.วิสัยทัศน์หรือมุมมอง ท่านคิดว่าใน 3 ปีข้างหน้า ภาคส่วนของท่านจะเป็นอย่างไร โอกาสชนเวทีโลกเป็นอย่างไร และภาคส่วนของท่านจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จของประเทศไทยได้อย่างไร

2.เรื่องสำคัญที่สุด 3 เรื่อง ที่ท่านต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อที่จะช่วยให้ภาคส่วนของท่านเดินหน้า ตามวิสัยทัศน์และประสบความสำเร็จของภาคส่วนของท่าน คืออะไร

3.อุปสรรคที่สำคัญมากที่สุดที่ขวางความสำเร็จของภาคส่วนของท่าน คืออะไร

4.กฎกติกาของภาครัฐที่ท่านคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของภาคส่วนของท่าน ที่น่าจะสามารถแก้ได้ง่ายและรวดเร็ว

5.หน่วยงานของภาครัฐที่ท่านอยากเห็นการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือหน่วยงานใด

โดยผู้ได้รับเชิญในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์และความคิด ประกอบด้วย

1.สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย (นายกสมาคม และคณะอีก 2 ท่าน)

2.สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (นายกสมาคม และคณะอีก 2 ท่าน)

3.สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย (นายกสมาคม และคณะอีก 2 ท่าน)

4.นางอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด และทีมงานอีก 1 ท่าน

5.นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เจแอลแอล และทีมงานอีก 1 ท่าน

6.นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) และทีมงานอีก 1 ท่าน

7.นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) และทีมงานอีก 1 ท่าน

8.นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน รองประธานกรรมการ/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) และทีมงานอีก 1 ท่าน

9.นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) และทีมงานอีก 1 ท่าน

10.นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) และทีมงานอีก 1 ท่าน

11.นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลเด้นแลนด์เรสซิเดนซ์ จำกัด และทีมงานอีก 1 ท่าน

โดยทางรัฐบาลได้กำหนดให้ตัวแทนสมาคมฯนำเสนอวิสัยทัศน์และความคิด ใน 5 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น โดยใช้เวลาสมาคมฯละไม่เกิน 10 นาที

ส่วนกรณีในนามบุคคล สามารถนำเสนอความคิดเพิ่มเติม โดยกรอบเนื้อหาควรต้องอยู่ภายใต้ประเด็นใดประเด็นหนึ่งใน 5 ประเด็น ตามที่ระบุไว้ข้างต้น และใช้เวลาท่านละไม่เกิน 5 นาที

นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ
นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริทรัพย์ จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 กันยายน 2563 ตนร่วมกับนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และนายวัชระ ปิ่นเจริญ นายกอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จะเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ต่อนายกรัฐมนตรีด้วย  โดยที่ผ่านมาทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และร่วมกันหารือกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ภูมิภาค อีก 13 จังหวัด เพื่อรวบรวมประเด็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสมารถสรุปได้ประมาณ 10 หัวข้อ แต่จะมีประเด็นหลักใหญ่อยู่ 2-3 หัวข้อ โดยในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ตนจะนำประเด็นดังกล่าวทั้งหมดมาสรุปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเหลือประเด็นสำคัญที่จะนำเสนอพรีเซนต์ต่อนายกฯให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด 10 นาที ส่วนหัวข้ออื่นๆที่ไม่สามารถนำเสนอได้ทัน ก็จะยื่นหนังสือให้กับนายกฯในวันดังกล่าวเลย

สำหรับ  5 หัวข้อที่ทางรัฐบาลอยากให้ภาคเอกชนเสนอนั้นยังไม่สามารถเปิดรายละเอียดได้ แต่ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่อยากเห็นการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้น มองว่าที่ผ่านมาหน่วยงานนของภาครัฐจะยึดแนวทางการดำเนินงานที่เป็นวัฒนธรรมของตนเองมายาวนาน แต่ปัจจุบันคงต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานตามยุคสมัย เพื่อให้เชื่อมโยงกับภาคเอกชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานที่สังกัดกระทรวมมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ที่คิดว่าควรถึงเวลาที่จะต้องบูรณาการเสียที

นายอธิป พีชานนท์
นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ทราบข่าวเรื่องที่ทางรัฐบาลมีจดหมายถึงบางสมาคมและบางบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาฯ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ต่อนายกรัฐมนตรี หากให้ตนแสดงความคิดเห็นด้วยตนเองมองว่า 1 ใน 5 หัวข้อที่อยากนำเสนอคือ เรื่อง การปฏิรูปหน่วยงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอยากให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) และหน่วยงานต่างๆในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้รวดเร็ว และมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้มักสร้างต้นทุนแฝง ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระในการซื้อที่อยู่อาศัย

 

อีกหน่วยงานที่ขอเสนอแนะคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการที่ล่าช้า โดยเฉพาะการออกผังเมืองใหม่ ที่ใช้ระยะเวลาในการแก้ไขที่นานเกินไป หากเป็นต่างประเทศจะไม่ใช้ระยะเวลาที่นานเช่นนี้  ส่วนกรมที่ดินนั้นปัจจุบันเริ่มมีประสิทธิภาพในการมากขึ้นแล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหามากนั

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนและ 3 สมาคมอสังหาฯคือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย พยายามผลักดันให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ การลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง ในที่อยู่อาศัยราคา 3 ล้านบาทแรก และส่วนที่เหลือก็เสียค่าใช้จ่ายในอัตราปกติ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมที่อยู่อาศัยทุกเซกเมนต์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นข้อเสนอไปยังสมัยที่นายอุตตม สาวนายน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ คือ นายปรีดี ดาวฉาย ดังนั้นคงต้องดำเนินการทำหนังสือยื่นข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะยื่นข้อเสนอเรื่องมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ไปยังนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยยื่นเรื่องไปที่ นายวิรไท สันติประภพ ที่จะหมดวาระในวันที่ 30 กันยายน 2563 นี้ เพื่อให้ธปท.ช่วยผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวลงอีก

อีกทั้งยังเดินหน้าที่จะส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายสิทธิการเช่าในที่อยู่อาศัย เพื่อให้ต่างชาติสามารถถือครองที่อยู่อาศัยในรูปแบบการเช่าระยะยาว  จากเดิม30+30  ปี เป็น 50 ปี และสามารถขายสิทธิการเช่ากรรมสิทธิ์นั้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการขายอสังหาฯ ในระดับนานาชาติ

“แต่ก็เชื่อว่าเรื่องการแก้ไขกฎหมายการให้ต่างชาติสามารถถือครองที่อยู่อาศัยระยะยาว 50 ปีนั้นเป็นเรื่องยาก และยิ่งหวังไปถึง 90 ปี ยิ่งยากใหญ่เลย เพราะหลายๆฝ่ายมองว่าจะต้องแก้กฎหมายที่ค่อนข้างยุ่งยากมาก จึงไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้”นายอธิป กล่าว

นายอธิป กล่าวต่อถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีหลัง 2563 ว่า แยกเป็นตลาดคอนโดมิเนียม ทั้งในกทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เห็นความชัดเจนที่ดีขึ้น ยอดขายหดตัวลงมาก และหากผู้ประกอบการบางรจะเป็ดตัวโครงการใหม่ สถาบันการเงินก็จะขอหยุดปล่อยสินเชื่อโครงการเป็นการชั่วคราวก่อน เพราะสถาบันการเงินไม่ต้องการให้เกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

ส่วนโครงการแนวราบ ตลาดยังพอไปได้ การเปิดตัวโครงการใหม่ยังมีต่อเนื่อง เพราะทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อหันมาพัฒนาและซื้อโครงการแนวราบกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรียลดีมานด์ที่แท้จริง เพราะไม่มีกลุ่มนักเก็งกำไรและนักลงทุนในเซกเมนต์นี้

“จากสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมาเจอพิษโควิด-19 อีก ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯแย่ลงไปอีก หากให้คะแนน คงต้องให้ต่ำกว่า 5 คะแนน แต่สถานการณ์รอบนี้ถือว่ากว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ปีนั้นสถาบันการเงินล้มละลายและต้องปิดกิจการถึง 58 แห่ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็เดือดร้อน แต่ประชาชนไม่เดือดร้อน มีการเลย์ออฟพนักงานน้อย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับตรงกันข้ามกัน คือ สถาบันการเงินยังอยู่รอ แต่พนักงานถูกเลย์ออฟเป็นจำนวนมาก”นายอธิป กล่าวในที่สุด

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*