4 Start Up รุ่นใหม่ผนึกกำลังเปิดตัว “BAANDY” แพลตฟอร์ม ซื้อขายวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่ง พัฒนาโดยคนไทย นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อ เจ้าของบ้านผู้รับเหมาร้านค้าผู้ให้บริการไว้ในแอปพลิเคชันเดียว เพื่อเป็นศูนย์รวมความต้องการวัสดุก่อสร้างอุปกรณ์ตกแต่งบ้านครบวงจร หวังช่วยผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รับมือธุรกิจชะลอตัวระบุระยะแรกเน้นเจาะตลาดภาคอีสาน ตั้งเป้าร้านค้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ปีแรกกวาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ปี 65 เล็งขยายฐานตลาดประเทศเพื่อนบ้านเมียนมากัมพูชา
นายณัฏฐ์นวัต พันธุกรกวีวุฒิ
นายณัฏฐ์นวัต พันธุกรกวีวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ บานดี้ จำกัด กลุ่มบริษัทStart Up จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้พัฒนา BAANDY แอปพลิเคชัน เปิดเผยว่า จากข้อมูลร้านค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านในปัจจุบัน พบว่ามีครอบคลุมพื้นที่ในประเทศไทย จำนวนประมาณ 13,000 ราย แบ่งตามลักษณะการจำหน่ายและรูปแบบการให้บริการเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ (Modern Trade) และกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิม (Traditional trade)โดยในช่วงที่ผ่านมากลุ่มวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจที่มาพร้อมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มModern Trade ที่จำหน่ายสินค้าครบวงจร และจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มTraditional trade ที่จะทยอยหายไปในอนาคต ซึ่งจะกระทบไปถึงดีลเลอร์ด้วย

ทั้งนี้ในช่วงปี 2563-2564 กลุ่ม Modern Trade มีทิศทางการขยายตัวที่สูงอย่างต่อเนื่อง ใน 5 รูปแบบด้วยกัน คือ

1.เน้นการขยายตัวในรูปแบบสาขาขนาดเล็กเพิ่มขึ้น

2.เน้นการขยายสาขาเพิ่ม ไปสู่ระดับอำเภอมากขึ้น

3.เน้นกลับมาขยายสาขาให้ใกล้แหล่งชุมชนมากขึ้น

4.เน้นขยายสาขาตามตะเข็บชายแดน และนิคมอุตสาหกรรม

5.เน้นตลาดต่างจังหวัด และชานเมืองกรุงเทพฯ มุ่งเน้นค้าปลีกและค้าส่งครบวงจร

ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยมีมูลค่า 500,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นกลุ่มModern Trade สัดส่วน 30% หรือประมาณ 261 สาขา และกลุ่ม Traditional trade สัดส่วน70% หรือ 9,000 ร้านค้า แต่ถ้าหากกลุ่มModern Trade มีการขยายตัวแบะมีอัตราการเติบโตสูงกลุ่ม Traditional trade ก็จะประสบปัญหาอย่างแน่นอนนายณัฏฐ์นวัต กล่าว

นายณัฏฐ์นวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯได้มองเห็นโอกาส จากการขยายตัวของกลุ่มModern Trade แต่ละแบรนด์ ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ต้องการความรวดเร็วสะดวกสบาย เลือกไปเดินซื้อสินค้าที่มีความหลากหลาย มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและซื้อครบจบในที่เดียว จึงมองว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ มีส่วนช่วยในการบริหารสต๊อกสินค้า ตลอดจนเพิ่มช่องทางการขายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น โดยระบบการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM)จะมีส่วนช่วยการรักษาฐานลูกค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ประกอบกับประสบการณ์ในการคลุกคลีกับกลุ่มร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างมายาวนาน จึงมีความเข้าใจในพฤติกรรมการเลือกซื้อและปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างของผู้บริโภค จึงริเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงวงการค้าขายวัสดุก่อสร้าง แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการค้าขายอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการออกแบบแอปพลิเคชันมีไอเดียจากการผสาน ประสบการณ์ ความต้องการ และพฤติกรรมจากกลุ่มผู้ขายและผู้บริโภคสองส่วนเข้าด้วยกัน เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายวัสดุก่อสร้างบานดี้” (BAANDY Marketplace Platform) ที่พัฒนาโดยคนไทย โดยเป็นการร่วมทุนกันของตนและเพื่อนๆอีก 3 คนคือ 1.นายจักรพงศ์ ตั้งพร้อมพันธ์ประธานกรรมการ  บริษัท เดอะ บานดี้ จำกัด หนึ่งในผู้บริหารธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง ออโต้เซลส์ กรุ๊ป   2. ตน ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  3.นายพัชวรัทย์ พิพัฒน์ธนอุดมดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน   และ 4.วรรณพงศ์ ปิ่นรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

โดย BAANDY เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน ให้บริการทั้งwww.baandy.com และแอปพลิเคชัน แบบออมนิ (Omni Shopping) ที่ผสานการซื้อขายออนไลน์และออฟไลน์ (ร้านค้าวัสดุก่อสร้างใกล้บ้าน) เข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางเชื่อมต่อระหว่าง เจ้าของบ้าน ร้านค้า ผู้ให้บริการ เป็นศูนย์รวมในการตอบสนองความต้องการเรื่องบ้านได้อย่างครบครัน รวมทั้งบริการช่างฝีมือ ที่เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างซ่อมแซม และบริการติดตั้งครบวงจร มาพร้อมกับเทคโนโลยี AI ช่วยในการวิเคราะห์และทำการตลาดให้กับร้านค้า ยกระดับวงการวัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้านให้เป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วง 1-2 ปีแรก บริษัทฯจะใช้งบประมาณ  20-30 ล้านบาท สำหรับพัฒนาระบบ บริหารจัดการ รวมถึงทำการตลาด การประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้เปิดให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วประเทศ เข้ามาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาแต่ในช่วงแรกจะเน้นกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนซึ่งมีกระแสการตอบรับที่ดี โดยไตรมาสแรกมีร้านค้าเข้าร่วมแล้วประมาณ 300-400 ร้านค้า  ซึ่งเกือบครบทุกจังหวัด ขาดเพียง อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยร้านค้าต่างๆจะไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดและบริษัทตั้งเป้าหมายในปี 2564 นี้ จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้างเข้าร่วมเปิดร้านค้าไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย โดยตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ในช่วงไตรมาสแรกบริษัทเดินสายให้ข้อมูล และมีร้านค้าร่วมเปิดร้านค้าใน BAANDY App กว่า 400ร้านค้า โดยส่วนใหญ่เป็นร้านค้าในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเดินสายอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเปิดร้านค้าและเพิ่มสินค้าในแต่ละร้านให้ครอบคลุมที่สุดถือเป็นความท้าทายของบริษัท เนื่องจากทั้งร้านค้าและผู้บริโภคแม้ว่าจะยอมรับช่องทางการซื้อขายออนไลน์แต่ยังไม่คุ้นชินกับช่องทางนี้ ซึ่งบริษัทมีกลยุทธ์การตลาดเพื่อดึงดูดผู้ซื้อผู้ขายให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด โดยการรวบรวมผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายในราคาที่ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าในการซื้อ พร้อมทั้งกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายให้กับร้านค้า จัดเตรียมโปรโมชั่นที่น่าสนใจไว้มากมาย อีกทั้งบริการการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วโดยร้านค้าวัสดุก่อสร้างในแต่ละพื้นที่และผู้นำด้านการจัดส่งสินค้า เช่น ไปรษณีย์ไทย Best Express J&T Express และอื่นๆ พร้อมทั้งมีแผนกลูกค้าสัมพันธ์หรือ CRM ที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ร้านค้าและผู้บริโภคนายณัฏฐ์นวัต กล่าว

นายณัฏฐ์นวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 บริษัทฯยังสนใจที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเมียนมา และกัมพูชาอีกด้วย เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการทำตลาด เพราะมีพันธมิตรทางธุรกิจวัสดุก่อสร้างใน 2 ประเทศดังกล่าวอยู่แล้ว หากเป็นสินค้าจากประเทศไทยไปทำตลาด จะได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เนื่องจากมีคุณภาพ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆได้ในขณะนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*