นายกสมาคมอาคารชุดไทยเผยกรณีศึกษาโครงการหรูย่านอโศก ส่งผลกระทบผู้ประกอบการพัฒนาคอนโดฯใช้ที่ดินหน่วยงานภาครัฐเป็นทางเข้าออกร่วมกว่า 100 โครงการ  หวั่นกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค ล่าสุดร่อนหนังสือถึงสมาคมธนาคารไทย หวังเข้าหารือ พร้อมให้ความร่วมมือหาทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย แนะหน่วยงานรัฐรัฐวิสาหกิจ ควรมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้สูงสุด
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาคมอาคารชุดไทย ได้ติดตามเหตุการณ์หลังจากคำพิพาษาของศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนใบอนุญาต โครงการ “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือ ANAN ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ อย่างใกล้ชิด และพบว่าการเพิกถอนใบอนุญาตมีผลย้อนหลัง แม้ว่าโครงการจะผ่านนการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทุกภาคส่วนตามขั้นตอนแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สํานักงานเขตวัฒนา, ผู้อำนวยการสํานักการโยธา และกรุงเทพมหานคร ได้ออกหนังสืออนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก สามารถดำเนินการได้ และทาง ANAN ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาก่อสร้างโครงการดังกล่าวอย่างครบถ้วนถูกต้อง

จากเหตุการณ์ที่เกิดข้อพิพาทขึ้นและคำพิพาษาของศาลปกครองกลางที่ออกมา ทำให้เกิดความกังวลใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย โดยมีโครงการที่มีลักษณะของการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐเป็นทางเข้าออกกว่า 100 โครงการตาม ตามกระแสข่าวที่ได้ออกมา รวมถึงผู้ที่ซื้อโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งได้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นโครงการคอนโดมิเนียมโดยสุจริต

“โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และอาจมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะภาค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าเราจะทำทุกอย่างที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งต้องการให้ทุกฝ่ายเข้าใจในด้านผู้ประกอบการเอง และเราก็พร้อมที่จะร่วมมือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และหาทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย”ดร.อาภา กล่าว

ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารนั้น ทางสมาคมฯจะหารือและขอความเห็นในการช่วยเหลือจากสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้มีการส่งผลหนังสือไปถึง “นายผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสิ่งที่สำคัญ คือ เพื่อสร้างความมั่นใจกับลูกค้าที่กู้ยืมสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย ได้รับความชัดเจนแนวทางของชำระคืนสินเชื่อ หรือบางรายอาจจะมีเตรียมการรีไฟแนนซ์สินเชื่อ ว่าควรทำอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่ยังมีความกังวล รวมถึงการที่ธนาคารยังให้ความเชื่อถือต่อการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัย เพราะสมาคมอาคารชุดไทยมีความเชื่อมั่นต่อระบบการขออนุญาตจากทางราชการ และสมาชิกได้ดำเนินการพัฒนาโครงการอย่างถูกต้อง

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในและต่างประเทศ สิ่งที่ตามมาหากกระบวกการทางราชการของประเทศไม่มีความแน่นอน ทำให้ไม่เกิดการลงทุน เพราะผู้ลงทุนเองก็มีความกังวล ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแบงก์ก็ไม่กล้าที่จะให้สินเชื่อไปพัฒนาโครงการ และทำให้กระทบการจ้างงาน ส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก”ดร.อาภา กล่าว

ดร.อาภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการใช้ที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และแนวทางการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่อาจจะมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงการสาธารณประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่ได้สร้างเสร็จแล้วนั้น มองว่าหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิควรมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้สูงสุดเข้ามา ซึ่งอาจมีหรือไม่มีหน่วยงานร่วมพิจารณา เช่น กรมธนารักษ์หรือหน่วยงานพิเศษอื่นๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสจากการสร้างรายได้เข้ามา และป้องกันการเกิดข้อพิพาท เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ พร้อมสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*