นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเผยภาพรวมตลาดกำลังประสบปัญหา แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19 ที่อยู่อาศัยระดับ 2-3 ล้านบาท ถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50-60% และบางจังหวัดอาจสูงถึง 70% ส่งผลผู้ประกอบการอ่วม พลาดยอดโอน ระบุหลายรายแห่ผุดแนวราบจนเกิดภาวะล้นตลาดบางทำเล ขณะที่ครึ่งปีหลัง64 อสังหาฯ 12 รายใหญ่ จ่อผุด 150 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 200,000 ล้านบาท ลุ้นที่อยู่อาศัยระดับราคา 1 ล้านบาท หลังก่อสร้างเสร็จใน 1-2 ปี แบงก์จะปล่อยสินเชื่อหรือไม่  แนะสถาบันการเงินต้องปรับตัวรับ FinTech ที่กำลังจะเข้ามา Disruption อาจทำให้คนยื่นขอสินเชื่อน้อยลงด้วย จับตาเทรนด์ Wellness Real Estate กำลังมาแรง เติบโตเร็ว
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบ Free Webinar ภายใต้ชื่อ Transforming Real Estate Thailand Forum 2021” ขึ้นเป็นครั้งแรก ในคอนเซ็ปต์ Transforming Post COVID-19 : Strategies for Success”ถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย ซึ่งก่อนหน้านี้มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection rate) ของกลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 3-5% และที่อยู่อาศัยเซกเมนต์ทั่วไปไม่เกิน 30% แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่อาศัยระดับราคา 2-3 ล้านบาท มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% และบางจังหวัดอาจสูงถึง 70% ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการได้รับผลกระทบจากการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ แม้ผู้ประกอบการจะ Pre-approve ลูกค้าแล้วก็ตาม เนื่องจากลูกค้าอาจได้รับผลกระทบในภายหลัง สถาบันการเงินจึงไม่ปล่อยสินเชื่อ รวมถึงปัญหาตลาดคอนโดมิเนียมซบเซาจากโควิด-19 ทำให้มีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ผู้ประกอบการจึงหันมาพัฒนาสินค้าแนวราบกันมากขึ้น จนเริ่มเกิดภาวะล้นตลาดในบางทำเล

ทั้งนี้ ภาพรวมซัพพลายในตลาดอสังหาฯยังถูกดูดซับได้ช้าลงจนกระทบถึงยอดขายในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ผู้ประกอบการ 12 ราย เตรียมพัฒนาโครงการใหม่ 150 โครงการ มูลค่ารวม 200,000 ล้านบาท ตามเดินแผมที่วางไว้นั้น จะเข้ามาเติมซัพพลายในตลาดเพิ่ม อีกทั้งแนวโน้มการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคา 1 ล้านบาทนั้น ยังต้องลุ้นต่อไปว่าหลังพัฒนาโครงการเสร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้า สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยหรือไม่ ซึ่งตลาดอสังหาฯตอนนี้จำเป็นต้องรอการผ่อนปรนของสถาบันการเงินเท่านั้น ขณะเดียวกัน ตนมองว่าสถาบันการเงินเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เนื่องจาก FinTech ที่กำลังจะเข้ามา disruption ธุรกิจสถาบันการเงิน อาจทำให้คนยื่นขอสินเชื่อน้อยลงด้วย

นายพรนริศ กล่าวอีกว่า มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value :  LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือแบงก์ชาติ ที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการเก็งกำไรหรือดีมานด์เทียมที่อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ โดยกำหนดเพดานการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย70-90% ล่าสุดได้มีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว แต่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯและจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งกำลังสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2564 นี้ ทางสมาคมฯ กำลังเจรจาเพื่อขอให้ช่วยขยายเพดานให้สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา แต่จำกัดการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวเฉพาะมูลค่า 3 ล้านบาทแรกเท่านั้น เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่เป็นระดับราคา 3-5 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมองถึงเทรนด์ Wellness Real Estate พัฒนาที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อสุขภาพ อาทิ การดีไซน์ ตัวอาคารให้ประหยัดพลังงาน ทิศทางของแสงและลม ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีมานี้ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงกระแส Digital Asset เริ่มมีการแปลงสินทรัพย์อสังหาฯให้อยู่ในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Fractional Ownership of Real Estate แบ่งซอยสินทรัพย์ออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วเสนอขยายเป็นโทเคนดิจิทัล Initial Fraction Offering หรือ IFO ให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการถือครองอสังหาฯได้ง่ายขึ้น ไม่จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรือรีสอร์ต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เพื่อให้บริการดังกล่าวแล้ว ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไป

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*