การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของภาครัฐ พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกที่ดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง ขณะที่ตลาดอสังหาฯ แม้จะยังไม่ได้เติบโตหวือหวา แต่เห็นสัญญาณบวกจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กลับมาเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์คนที่กำลังหาบ้านในยุคนี้มากขึ้น

จากข้อมูลของ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ในการทำแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย  พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาฯของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51% จากเดิมที่มีเพียง 45% ในรอบก่อน สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นในตลาดอสังหาฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯของภาครัฐ รวมทั้งผู้ประกอบการเลือกตรึงราคาที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับกำลังซื้อในช่วงนี้ จึงทำให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มีความพร้อม สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังพบว่าความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเป็น 67% จากเดิม 62% ในรอบก่อน ส่งสัญญาณให้เห็นการกลับมาฟื้นตัวของดีมานด์คนหาบ้านที่เริ่มเชื่อมั่นในการใช้จ่ายอีกครั้ง

ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 57% วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยภายใน 1 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่อีก 7% ยังคงเลือกเช่าที่อยู่อาศัยต่อไป ส่วน 35% ยังไม่มีการวางแผนซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในช่วงนี้

ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยเป็นหลัก โดย 43% ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น รองลงมาคือต้องการเพิ่มพื้นที่สำหรับบุตรหลานหรือพ่อแม่ประมาณ 30% และซื้อไว้เพื่อลงทุนสัดส่วน 29%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความพร้อมในการวางแผนการเงินก่อนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย พบว่ามีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 4 หรือ25%เท่านั้นที่มีเงินออมเพียงพอในการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ประมาณ 47% เก็บเงินได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ส่วนอีก 22% ยังไม่ได้เริ่มวางแผนออมเงิน

สะท้อนให้เห็นว่าแม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคตอันใกล้นี้ แต่หากขาดการวางแผนทางการเงินที่รอบคอบก็ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเมื่อต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต 

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องเช่าที่อยู่อาศัยต่อไป โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 48% ของผู้ที่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยใน 1 ปีข้างหน้าให้ข้อมูลว่าไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ส่วนอีก 39% เลือกที่จะเช่าเพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขณะที่อีก 27%ของผู้ตอบแบบสอบถามยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ในเวลานี้และมองว่าที่อยู่อาศัยมีราคาแพงไป จึงเลือกเก็บออมเงินไว้มากกว่าที่จะซื้อที่อยู่อาศัยตอนนี้

ขณะที่ข้อมูลผลสำรวจ CHAMBER BUSINESS POLL: “สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2565” ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าปีนี้คนไทยมีหนี้สินถึง 99.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับจากที่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2550 และพบว่าเป็นหนี้จากที่อยู่อาศัย 35.7% ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามฯ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ที่พบว่าผู้บริโภคถึง 4 ใน 5  ยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาการเงินเมื่ออยากมีบ้าน โดยปัญหาหลักมาจากการหาแหล่งเงินกู้ในการซื้อที่อยู่อาศัย 54% และยื่นขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้นถึง 44% ดังนั้นคนซื้อบ้านในยุคนี้จึงจำเป็นต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งประเมินภาระค่าใช้จ่ายให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ

ส่วนการเลือกทำเลที่อยู่อาศัย กลุ่มผู้บริโภค 53% มองว่าการหาทำเลที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมถือเป็นความท้าทายและใช้เวลาค้นหาไม่น้อย ซึ่งนอกจากจะต้องเดินทางสะดวก อยู่ในทำเลที่มีความเจริญ รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาฯ ได้ในอนาคตแล้ว ควรพิจารณาข้อมูลและข่าวสารว่าทำเลนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันเช่น พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากหรืออุทกภัย พื้นที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีเมื่อมีเหตุโรงงานไฟไหม้หรือระเบิด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและโครงการอสังหาฯ เอง

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงผังเมืองหรือแผนการเวนคืนอสังหาฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งก็เป็นอีกประเด็นที่ควรศึกษาเช่นกัน เพื่อให้สามารถคัดเลือกที่อยู่อาศัยในทำเลที่ถูกใจและอยู่ได้ในระยะยาว

ผู็บริโภควอนภาครัฐลดดอกเบี้ยเงินกู้จูงใจซื้อบ้านยุคเงินเฟ้อ
แม้ปีนี้คนหาบ้านจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี แต่พบว่าช่วงเวลานี้ยังคงเป็นโอกาสที่ดีในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย โดยข้อมูลจากแบบสอบถามฯพบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 4 ใน 5 คาดว่าอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และราคาที่อยู่อาศัยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้า ดังนั้นการมีมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ จากภาครัฐจึงเปรียบเสมือนประตูที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น เมื่อเจาะลึกถึงมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนที่คนหาบ้านคาดหวังจากภาครัฐท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงในตอนนี้ พบว่ากว่า 62% ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มเติมอีก

ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามอีกกว่า58% ต้องการให้มีมาตรการลดดอกเบี้ยทั้งสินเชื่อบ้านที่กู้ใหม่และที่มีอยู่ ตามมาด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก เพื่อส่งเสริมการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงานและเริ่มสร้างครอบครัว ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 22-29 ปี

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*