คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว 4 ประเภท ถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี ด้านนายกฯระบุสามารถทบทวนร่างฯได้ทุกๆ 5 ปี หวังสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจสังคมไทย
วันนี้ (25 ตุลาคม 2565)นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาระสำคัญของกฎกระทรวงเป็นการกำหนดกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ที่สามารถได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่

1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

ทั้งนี้ จำนวนเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเองภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง โดยมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ อาทิ

1.การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงิน หรือดอกเบี้ย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานผู้ออกพันธบัตร เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง

2.การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้าง พื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตาม กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เพิ่มกองทุนรวมโครงสร้าง พื้นฐานจากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2555)

3.การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จาก กฎกระทรวงฯ พศ. 2555) โดยข้อ 2 และ 3  ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง

4.การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

5.การลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศ ให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับ การส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยข้อ 4 และ 5 ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นผู้ออกหนังสือรับรอง

สำหรับกรณีมีการจำหน่ายที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบกำหนดจำนวน 1 ไร่ ให้นำจำนวนที่ดินในส่วนที่ได้จำหน่ายไปแล้วมารวมกับสิทธิที่จะได้มา ซึ่งที่ดินตามกฎกระทรวงนี้ด้วย ส่วนกรณีที่ได้มาซึ่งที่ดินครบจำนวน 1 ไร่แล้ว ต่อมาได้จำหน่ายที่ดินทั้งหมด หรือบางส่วนไป สิทธิที่จะได้มาซึ่งที่ดินตามกฎกระทรวงนี้เป็นอันระงับไป

ทั้งนี้ในส่วนของการกําหนดเขตพื้นที่ จะต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กําหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วย การผังเมือง และต้องอยู่นอกเขตปลอดภัยในราชการทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร โดยให้ยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานตามแบบแนบท้ายกฎกระทรวงฯ เมื่อเห็นว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังอธิบดีกรมที่ดินเพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีต่อไป

อีกทั้ง ยังต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม จารีตประเพณี หรือวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ซึ่งผู้ได้รับอนุญาตต้องแจ้งการใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 50 วันนับแต่วันเริ่มใช้ที่ดินนั้น และผู้ได้รับอนุญาตถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลา การดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน โดยมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายอนุชา กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้มีการลงทุนที่หลากหลายขึ้น และมีมาตรการที่จะช่วยดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศมากขึ้น เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 กันยายน 2564 และวันที่ 24 มกราคม 2565

ซึ่งในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้กล่าว ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวนี้ สามารถทบทวนได้ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมไทยในขณะนั้นๆ ด้วย ซึ่งจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะส่งร่างฯดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*