บอร์ดพฤกษาฯไฟเขียว“ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์”ลาออก มีผล 1 ก.พ.66 แต่ยังคงรั้งตำแหน่งรองประธานกรรมการ-กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน-กรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยง-กรรมการบริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมส่งไม้ต่อ “อุเทน โลหชิตพิทักษ์”เข้าบริหารเต็มตัว มั่นใจปี 66 เปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไตรมาส 4/65 จ่อเปิด 11 โครงการใหม่ มูลค่ารวม  7,760 ล้านบาท จะช่วยดันยอดขายเพิ่มขึ้น 20% ด้านผลประกอบการ ไตรมาส 3/65 เติบโต 87% กำไรสุทธิ 619 ล้านบาท รายได้อยู่ที่ 6,832 ล้านบาท จากการเติบโตของธุรกิจ อสังหาฯ-เฮลท์แคร์ เผยสถานะทางการเงินแกร่ง เดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่ด้านเฮลท์เทค และโซเชียล คอมเมิร์ส ต่อเนื่อง
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งล่าสุด ได้มีมติรับทราบการลาออกจากตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และประธานคณะกรรมการบริหาร ของนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ โดยมีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งภายหลังการลาออก นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ จะยังคงมีตำแหน่งเป็น รองประธานกรรมการบริษัท กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน กรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม สำหรับการลาออกครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Succession Plan ที่ทางบริษัทฯ ได้วางแผนไว้ในการเตรียมความพร้อมและสร้างความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2565 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมามีมติอนุมัติปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565  ซึ่งคณะกรรมการบริหารของบริษัทจะประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 11 ท่าน ได้แก่ 1.นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร, 2.นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร, 3.นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการบริหาร, 4.นายปิยะ ประยงค์ กรรมการบริหาร, 5.นพ.สมศกด อรรฆศิลป์ กรรมการบริหาร, 6.นางสาวพรภัทร องนิธิวัฒน์ กรรมการบริหาร, 7.นายพรเทพ ศุภธราธาร กรรมการบริหาร, 8.นางสาวอังคณา ลิขิตจรรยากุล กรรมการบริหาร, 9.นางสาวสุรวีย์ ชัยธำรงค์กูล กรรมการบริหาร, 1. นายคเณศ กาญจนแก้ว กรรมการบริหาร และ 11.นางสาวมธุกร ศัลยพงษ์ กรรมการบริหาร

โดยนายทองมา ได้กล่าวว่า “หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งร่วมกับนายอุเทน ที่ได้บริหารงานพฤกษา โฮลดิ้ง ร่วมกันมาเป็นเวลาราว 10 เดือน ผมไว้วางใจ มีความมั่นใจในคณะทีมบริหารมากขึ้น จึงได้ตัดสินใจมอบหมายให้ นายอุเทนบริหารงานอย่างเต็มตัว เป็นการส่งมอบให้นักบริหารมืออาชีพที่มีความสามารถได้มาต่อยอดดูแลบริหารงานเชิงกลยุทธ์และด้านปฏิบัติการของธุรกิจต่างๆ ในเครือทั้งกลุ่ม โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไปถีงขยายกิจการ การลงทุนในธุรกิจใหม่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรการทำงานในรูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างทางความคิด สร้างความหลากหลายในองค์กร มุ่งปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่มพฤกษาในยุคดิจิทัลสู่องค์กรชั้นนำที่มอบโซลูชั่นสินค้าและบริการเพื่อคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีที่สุด”

และในปีนี้ที่ทางพฤกษาฯได้ริเริ่มโครงการ “Accelerate Impact with PRUKSA” ให้การสนับสนุนบริษัทในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)  ที่ต้องการความช่วยเหลือในการขยายกิจการให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้บริษัทที่เข้าโครงการได้บรรลุเป้าหมายสร้างผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ซึ่ง “ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์” เงินทุนส่วนตัวของนายทองมา ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมพระศาสนา สนับสนุนด้านการศึกษา และช่วยเหลือสังคม ได้มีการต่อยอดภารกิจด้านการช่วยเหลือสังคม ด้วยการให้การสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ที่ทางพฤกษาได้ริเริ่มโครงการนำร่องบ่มเพาะสตาร์ทอัพในปีนี้ด้วย

นายอุเทน กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2566 ว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ และหากผู้ประกอบการที่ยังมีต้นทุน ก็สามารถ Offer ได้ โดยในส่วนของพฤกษาฯได้วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี 2565 แล้ว ด้วยการออกแบบ สร้างสร้างพื้นที่ให้ลูกค้าได้มากขึ้นในต้นทุนเดิม ซึ่งถือเป็นข้อดีของบริษัทฯที่สามารถช่วยลูกค้าในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ และบ้านที่บริษัทฯสร้าง จะสามารถทำให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดี มีบ้านที่ดี เพราะบ้านผลิตจาก Net Zero ซึ่งแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2566 นั้น เบื้องต้นจะเปิดตัวมากขึ้นกว่าปี 2565 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาและวางแผนงาน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ส่วนปัจจัยลบในปี 2566 คือค่าครองชีพ ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ประเทศไทยก็มีจีดีพีที่สูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อจากออฟไลน์เป็นออนไลน์มากขึ้น การทำงาน WFH มากขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์ของบริษัทก็มีการปรับตัวรับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ด้วยการปรับฟังก์ชั่นและการดีไซน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ และอาจสามารถผ่อนดาวน์ได้น้อยลง ส่วนมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีข้อดีสำหรับคนที่ต้องการบ้านหลังที่ 2-3 ส่วนบ้านหลังแรกไม่มีผลแต่อย่างใด ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯจะมีความต้องการบ้านหลังแรกค่อนข้างมาก จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย

“เทรนด์ธุรกิจอสังหาฯปี 2566 มีความไม่แน่นอนสูง แต่บริษัทฯก็เตรียมตัวรับมือไว้แล้ว วันนี้บริษัทฯจะเน้นการให้บริการการอยู่อาศัยมากกว่าการเน้นขายที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มเปลี่ยนไป จึงเน้นการให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายมากขึ้นด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว” นายอุเทน กล่าว

ส่วนในไตรมาส 4/2565 จะมีเปิดตัวใหม่ 11 โครงการ มูลค่ารวม  7,760 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 3 โครงการ มูลค่า 2,700 ล้านบาท ,ทาวน์โฮม 7 โครงการ มูลค่า 3,600 ล้านบาท และคอนโดฯ 1 โครงการ มูลค่า 1,460 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขาย (Presale) ทั้งปีให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย 31,000 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายรวมแล้ว 14,544 ล้านบาท

นายอุเทน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาส 3/2565 ที่ผ่านมาบ้านระดับพรีเมี่ยม มีอัตราการเติบโตสูง แต่ยอดขายกลุ่มระดับปานกลาง-ล่าง กลับลดลง ส่วนใหญ่เป็นระดับราคา 7 ล้านบาทลงมา ซึ่งแนวราบ-คอนโดฯจะอยู่ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นจากสถาบันการเงินแต่จากมาตรการ LTV คาดว่าจะได้เห็นความต้องการที่อยู่อาศัย (Demand) กลับมาเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาส 4 ประมาณ 20% เนื่องจากมีบ้านพร้อมอยู่ ในราคาเดิมพร้อมขาย

“เราจะมีปัจจัยบวก คือ มีสินค้าต้นทุนเดิมที่มีอยู่  เพราะ LTV และดอกเบี้ยที่ปรับสูงในปีหน้า จะส่งผลให้ลูกค้ายังสามารถซื้อโครงการที่อยู่ในสต๊อกปีนี้ได้ในราคาต้นทุนเดิม ซึ่งได้มีการปรับฟังก์ชันเพื่อตอบสนองการ Work from Home (WFH) ได้เป็นอย่างดี โดยสต๊อกต้นทุนเดิม ก่อสร้างได้ค่อนข้างมากแล้ว ปัจจุบันมีโครงการพร้อมขายมูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท และมี 129 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการขาย มูลค่ารวมประมาณ 69,400 ล้านบาท”นายอุเทน กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงาน ไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯสามารถทำรายได้ 6,832 ล้านบาท เติบโต 27% จากไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโต 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิที่ 619 ล้านบาท เติบโต 44% จากไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโต 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง ทำอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30.9%  และมีอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนต่ำ (Net Gearing Ratio) ที่ 0.34 เท่า ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมา 2 ที่ 0.39 เท่า ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของทั้งสองธุรกิจหลัก ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจเฮลท์แคร์

โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 ทำรายได้ 6,430 ล้านบาท เติบโต 26% จากไตรมาสก่อน หรือเติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการที่สูงขึ้นของโครงการแนวราบในเซกเมนต์พรีเมี่ยม และรายได้จากการโอนคอนโดมิเนียม 3 โครงการในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และสามารถทำยอดขายได้ 2,858 ล้านบาท พร้อมมียอดขายรอโอน (Backlog) เตรียมแปลงเป็นรายได้ในอนาคต ที่ประมาณ 13,300 ล้านบาท โดยในไตรมาส 4 เตรียมส่งมอบคอนโดมิเนียม 4 โครงการ ได้แก่ แชปเตอร์ จุฬา-สามย่าน, ไพรเวซี่ จตุจัตร, พลัมคอนโด พระราม 2, พลัมคอนโด สุขุมวิท 62 มูลค่าราว 6,300 ล้านบาท และ มีแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 4 รวม 7,800 ล้านบาท ได้แก่ ทาวน์เฮาส์ 7 โครงการ มูลค่า 3,600 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 3 โครงการ มูลค่า 2,700 ล้านบาท และ คอนโดมิเนียม 1 โครงการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท

“เป้าหมายยอดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2565 บริษัทยังคงไว้ที่ระดับ 33,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาบริษัทมียอดโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 28,000 ล้านบาท และ ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ในมือมูลค่า 13,300 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ประมาณ 50% ส่วนที่เหลือทยอยรับรู้ในปีถัดไป” นายอุเทน กล่าว

ล่าสุดด้วยความใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พฤกษาฯให้ความสำคัญมาโดยตลอด ที่โรงงานพฤกษาพรีคาสท์ได้เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ “คาร์บอนเคียว” (CarbonCure) โดยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผสมในคอนกรีต สามารถลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในการผลิต โดยที่ยังคงประสิทธิภาพและคุณภาพของคอนกรีต ซึ่งพฤกษาเป็นอสังหาฯ รายแรกในไทยที่ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้เข้ามาใช้งาน สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลงได้ถึง 1,000 ตันต่อปี

ในขณะที่ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare Business) ในไตรมาส 3 มีรายได้ 330 ล้านบาท เติบโต 63% จากไตรมาสก่อน หรือเติบโต 276% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  สร้างรายได้จากบริการทางการแพทย์ในกลุ่มโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิดได้สูงสุดเป็น New High นับจากเริ่มดำเนินกิจการเมื่อปีที่ผ่านมา และมีการขยายบริการไปยังกลุ่มคนไข้ใหม่ และจากการจัดตั้งแผนกให้บริการผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะ ทำให้มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 23% ในขณะที่ทิศทางธุรกิจในอนาคต โรงพยาบาลวิมุตมีแผนเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยจาก 100 เตียง เป็น 125 เตียงภายในสิ้นปี 2565 เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น

ด้านการลงทุนในธุรกิจใหม่  เพื่อต่อยอดพันธกิจด้านนวัตกรรม ทางบริษัทฯ ได้มีการร่วมลงทุนกับ Pathology Asia Holdings ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแผนการนำ  Know-Howด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ Genomics และระบบการบริหารแล็ปที่ทันสมัย มุ่งขยายกิจการในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการนำนวัตกรรมด้านการแพทย์ระดับโลกมาสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพของกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ นอกจากธุรกิจด้านสุขภาพ พฤกษา โฮลดิ้ง ยังเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจโซเชียล คอมเมิร์ส  จึงได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ PUNDAI – ปันได้ เครื่องมือ Affiliate Marketing Network ช่วยขายออนไลน์ ที่มาพร้อมฟังก์ชัน การใช้งานที่ง่าย ครบ จบในที่เดียว เป็นเครื่องมือช่วยตอบโจทย์การขายผ่านทุกช่องทางออนไลน์ ให้กับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้เติบโตในโลกอีคอมเมิร์ซและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อีกทางหนึ่ง

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*