ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯประเมินแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 พื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล หลังหมดมาตรการ LTV  ผู้ประกอบการอาจชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ คาดมีเปิดตัวใหม่จำนวน 98,581 ยูนิต มูลค่า 513,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% และ 1.1% ตามลำดับ จากปี 2565 โดยสินค้าประเภทอาคารชุดเริ่มกลับมาเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้นถึง 4 หมื่นยูนิต

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566ว่า จะได้รับแรงกดดันจากการไม่ต่ออายุมาตรการ LTV (Loan to value) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป อาจส่งผลให้ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย)มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงเหลือ 89.5 จุด ลดลง -1.1% จากปี 2565 โดยจะปรับตัวอยู่ในกรอบต่ำสุดที่  80.6 จุด หรือลดลง -11.0% (กรณี Worst Case) และมีกรอบสูงสุดที่ 98.5 จุด หรือ ขยายตัว 8.8% (กรณี Best Case)

นอกจากนี้อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล  โดยคาดว่าจะมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จำนวน 98,581 ยูนิต มูลค่า 513,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% และ 1.1% ตามลำดับ จากปี 2565 ประกอบด้วยโครงการแนวราบประมาณ 58,312 ยูนิต มูลค่า 367,363 ล้านบาท  และโครงการอาคารชุดประมาณ 40,270 ยูนิต มูลค่า 146,619 ล้านบาท

ส่วนการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจะมีประมาณ 79,909 ยูนิตเพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างประมาณ 294,019 ยูนิตลดลง -5.5% เมื่อเทียบกับปี 2565 และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนประมาณ 91,615 ยูนิต ลดลง -0.1%

ด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2566 คาดว่าจะมีประมาณ 320,227 ยูนิต ลดลง -14.2% มูลค่า 953,404 ล้านบาท และจะมีจำนวนสินเชื่อปล่อยใหม่ประมาณ 614,764 ล้านบาท ลดลง -4.0% เมื่อเทียบกับปี 2565

ขณะที่อุปทานและอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในปี 2565 นี้ ดร.วิชัยคาดว่าจะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินประมาณ 77,221 ยูนิตเพิ่มขึ้น 12.7% และจะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลประมาณ 96,803 ยูนิต มูลค่า 508,264 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 87.9% และ 132.1% ตามลำดับ แบ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวน 49,492 ยูนิต มูลค่า 336,008 ล้านบาท และโครงการอาคารชุดจำนวน 47,311 ยูนิต มูลค่า 172,256 ล้านบาท

ส่วนการออกใบอนุญาตก่อสร้างมีจำนวน 310,976 ยูนิต แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวน 264,031 ยูนิต และอาคารชุดพักอาศัย 46,945 ยูนิต

ด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีประมาณ 373,253 ยูนิต มูลค่า 997,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.59% และ 5.61% ตามลำดับ แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวน 279,447 ยูนิต และอาคารชุดพักอาศัยจำนวน 93,806 ยูนิต

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*