“การเคหะแห่งชาติ”ส่งมอบสิทธิ์เช่าบ้าน 2 โครงการนำร่อง เคหะสุขประชา ร่มเกล้า และฉลองกรุงรวม 572 ยูนิต คิดค่าเช่า 1,500 – 3,000 บาทต่อเดือน  รองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและครัวเรือนเปราะบาง ปี’66 เดินหน้าก่อสร้างบ้านเพิ่มอีก 30,000 ยูนิต

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะฯได้เปิดให้ที่ได้รับสิทธิ์เช่าเข้ามาทำสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยในโครงการเคหะสุขประชา ร่มเกล้า ไปเมื่อวันที่ 16 – 19 ธันวาคม  และเคหะสุขประชา ฉลองกรุง เมื่อวันที่ 22 – 25 ธันวาคมที่ผ่านมาจำนวนรวม 572 ยูนิต คิดอัตราค่าเช่าประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อเดือน   โดยผู้ได้สิทธิ์เช่าในโครงการนี้เป็นกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ได้แก่ แม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนข้าราชการเกษียณ ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างของรัฐ และประชาชนที่มีรายได้น้อย

โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุ บ้านพักจะอยู่ชั้นที่ 1 ออกแบบโดยคำนึงถึงอารยสถาปัตย์ เช่น ทางลาดตั้งแต่ทางขึ้นอาคาร ทางลาดในห้องน้ำ ประตูแบบบานเลื่อน และราวจับ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายและพึ่งพาตนเองได้นอกจากนี้หลักสำคัญของบ้านเคหะสุขประชา คือการสร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัย ภายใต้โมเดล “สร้างบ้านพร้อมอาชีพ” โดยพัฒนาพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ตามความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย 6 รูปแบบ คือ เกษตรอินทรีย์, ปศุสัตว์, ตลาด,ศูนย์การค้าปลีกค้าส่ง, อาชีพบริการในชุมชนและชุมชนข้างเคียง และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก สำหรับเป็นพื้นที่ในการประกอบอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการ

เบื้องต้นใน 2 โครงการนำร่อง บ้านเคหะสุขประชา ฉลองกรุง จัดสรรพื้นที่เป็นตลาด ส่วนโครงการบ้านเคหะสุขประชา ร่มเกล้า จะจัดสรรพื้นที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566
สำหรับแผนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการบ้านเคหะสุขประชา การเคหะฯตั้งเป้าจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด 100,000 ยูนิต ใช้เวลาดำเนินงานภายใน 4 ปี โดยเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปี 2568 แบ่งการก่อสร้างออกเป็นปี 2565-2566 ปีละ 30,000 ยูนิตและปี 2567-2568 ปีละ 20,000 ยูนิต พร้อมทั้งสร้างเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานในมิติของ “มีบ้าน – มีอาชีพ – มีรายได้ – มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย ให้สามารถประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สันทนาการ พื้นที่จอดรถ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจสุขประชา ตามความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*