การเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางกลายเป็นเส้นทางหลักของหนุ่มสาวออฟฟิศในยุคปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็นหลังเลิกงาน จะเห็นได้จากช่วงครึ่งหลังของปีนี้ปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลังจากลดลงอย่างมากในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2564 จำนวนเที่ยวการเดินทางเฉี่ยต่อวันอยู่ที่ 421,300 เที่ยว (เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)

ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีระบบรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินที่เปิดให้บริการแล้วระยะทางรวม 210.94 กิโลเมตร จำนวน 11 เส้นทาง เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ส่วนในปี 2566 จะมีรถไฟฟ้า 2 เส้นทางใหม่เปิดให้บริการเพิ่มอีก  65 กิโลเมตร จำนวน 53 สถานี คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. และสัมปทานการเดินรถโดยบีทีเอสซี

อัพเดทความคืบหน้าของรถไฟฟ้า 2 เส้นทางใหม่ที่จะเปิดให้บริการในปี 2566  ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 สายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 97.73% และได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน มีแผนเปิดให้บริการในช่วงเดือนมิถุนายน 2566

สายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) มีความคืบหน้า 94% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 39 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน มีแผนเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2566

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการให้แก่ประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้าง Skywalk เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีหัวหมากกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีหัวหมาก โดยมี รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้าง ส่วนงานทับซ้อนกันบริเวณตำแหน่งทางขึ้นลงของสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ (สถานี PK11 – PK13) ประกอบด้วย การรื้อย้าย Duct Bank และแนวสายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการก่อสร้างทางระบายน้ำ (Flood Way) ของกรมทางหลวง โดย รฟม. จะประสานงานกับกรมทางหลวง กฟน. และ ปตท. อย่างใกล้ชิดเพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน คาดว่าจะสามารถเริ่มสร้างทางขึ้น-ลง ได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นระบบโมโนเรลแบบคร่อมรางหรือคานทางวิ่ง  มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว แนวเส้นทางวิ่งไปตามถนนลาดพร้าว ผ่านตลาดโชคชัย 4 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเวนคืนพื้นที่และทยอยรื้อถอนอาคารพาณิชย์ภายในตลาด นอกจากนี้ยังวิ่งผ่านห้างชื่อดัง “เดอะมอลล์ บางกะปิ” และมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์ ที่บริเวณแยกลำสาลี  ก่อนจะวิ่งตรงเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ศรีเอี่ยม และถนนเทพารักษ์ ไปสิ้นสุดโครงการที่สำโรง ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีสำโรง

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับกรุงเทพฯ จุดเริ่มต้นจากถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณระหว่างศูนย์ราชการนนทบุรีและแยกแคราย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่ – บางซื่อ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี วิ่งผ่านถนนสายสำคัญๆเช่น ถนนติวานนท์ แยกปากเกร็ด และถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการ และศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งทางผู้บริหารบางกอกแลนด์ ได้ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ศรีรัตน์-เมืองทองธานี เชื่อมต่อจากสถานีศรีรัตน์เข้าสู่เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 4.05%

นอกจากนี้แนวเส้นทางยังวิ่งผ่านแยกหลักสี่ ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่ และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ หลังจากนั้นจะวิ่งเข้าสู่ถนนรามอินทรา แยกมีนบุรี ถนนสุขาภิบาล  และไปสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกร่มเกล้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี

ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.50 กิโลเมตร งานก่อสร้างโยธาคืบหน้าไปแล้ว 98.48%  และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จำนวน  17 สถานี ระยะทาง 23.60 กิโลเมตร งานโยธาคืบหน้าไปแล้ว 4.30%

ทั้งนี้ในปี 2566 คนกรุงเทพฯและปริมณฑล 3 จังหวัด จะมีบริการรถไฟฟ้าให้ใช้สัญจรในการเดินทางเป็นระยะทางรวม 295.84 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าไปกว่า 50% จากแผนเร่งด่วนของมติคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้มีนโยบายเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้า 10 สายหลักจากทั้งหมด 14 โครงการ รวมระยะทาง 464 กิโลเมตร แต่เมื่อเทียบกับปริมาณประชากรของเมืองกรุงเทพฯและปริมณฑลอีก 5 จังหวัดที่มีจำนวนประชากรวมกันกว่า 10 ล้านคน ถือว่าอัตราการครอบคลุมพื้นที่ของรถไฟฟ้ายังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*