หลังจากที่กลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งทีซีซี กรุ๊ป ได้เข้ามาซื้อกิจการ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” เมื่อปี 2530 ที่ผ่านมา  ทางทีซีซี กรุ๊ป ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) หรือ AWC ได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นเเลนด์มาร์กของศูนย์รวมไอที “ห้างไอทีในตำนาน”ที่เริ่มจากสาขาประตูน้ำ ได้ขยายสาขาไปยังพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน กลายเป็นต้นเเบบ “ไอทีมอลล์” ในเมืองไทย  จนกระทั่งในปี 2559 “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ได้มีการปรับโฉมอีกครั้ง ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ เทคไลฟ์ มอลล์ ตามความนิยมของยุคสมัยที่ยังเน้นความเป็นแหล่งเทคโนโลยี เเต่มีการเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์เข้ามา เช่น “โซนพระเครื่อง” ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีโซน Co-working Space สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพให้มีมุมทำงานนอกออฟฟิศ รวมถึงเจาะตลาด “เกมเมอร์” สร้าง E-Sport Arena บุกเรื่องอีสปอร์ตอย่างจริงจัง
 แต่เหมือนกับว่าคอนเซ็ปต์ดังกล่าวก็ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ประกอบกับในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ “พันธุ์ทิพย์”ครบ 36 ปี ทาง AWC ก็ได้มีการส่งสัญญาณยกเครื่องใหม่อีกครั้งที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกเเห่งอาเซียน โดย AWC ได้ประกาศเปลี่ยน “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ” สู่ธุรกิจ Wholesale ด้วยคอนเซ็ปต์ ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของอาเซียน ที่มีชื่อว่า AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ในการปรับพื้นที่ วางระบบอาคารเเละการขนส่งต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์ค้าส่งแห่งใหญ่ใจกลางเมือง ด้วยพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตารางเมตร แต่ปรากฏว่าในช่วงต้นปี 2563 ได้เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่งผลให้การเปิดตัวต้องชะลอออกไป  และทำให้กลุ่ม AWC ต้องมีการปรับแผนใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย ในต้นปี 2566 AWC จึงมีการประกาศเปิดตัว “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ”โฉมใหม่ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” (เออีซี ฟู้ด โฮเซล ประตูน้ำ) ภายใต้แนวคิด “INTEGRATED WHOLESALE PLATFORM FOR NON-STOP OPPORTUNITY”อีกครั้ง
นางวัลลภา ไตรโสรัส
โดย นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) หรือ AWC  เปิดเผยว่า บริษัทฯเดินหน้าปรับโฉม “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ”สู่ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” (เออีซี ฟู้ด โฮเซล ประตูน้ำ) ภายใต้แนวคิด “INTEGRATED WHOLESALE PLATFORM FOR NON-STOP OPPORTUNITY”เพื่อเชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) ด้วยแพลตฟอร์มการค้าส่งครบวงจร เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด พร้อมโซลูชั่นที่ครบครันผ่าน Eco-System ที่รวมพลังพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการนำผู้ค้าส่งอาหารทั่วโลกกับผู้ซื้อทั่วประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)มาไว้ในที่เดียว ตอบโจทย์ทุกความหลากหลายของธุรกิจทั้งในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และราคา ร่วมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการค้าส่งของไทย ก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทาง “การค้าส่งอาหาร” ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคบนทำเลยุทธศาสตร์ใจกลางเมือง เชื่อมโยงผู้ค้าส่งทั่วโลกกับผู้ซื้อทั่ว AEC โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตอบโจทย์อนาคตครบวงจร เสริมโอกาสธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มค้าส่งที่เชื่อมโยงออนไลน์-ออฟไลน์ (ONLINE-OFFLINE INTEGRATION) ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่ การสรรหาสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งและชำระค่าสินค้า

การรวมพลังพันธมิตรในครั้งนี้ประกอบด้วยภาครัฐ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และอี้อู (Yiwu) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับทาง AWC เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และหอการค้าจากประเทศต่างๆ อาทิ สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย หอการค้าไทย-แคนาดา หอการค้าไทย-นิวซีแลนด์ หอการค้าสวิส-ไทย สมาคมหอการค้าไทย-สเปน รวมถึงภาคเอกชนผู้นำธุรกิจอาหารชั้นนำของไทย อาทิ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ โกล บอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“AWC เชื่อมั่นการรวมพลังของทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาค” เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) ตอบโจทย์อนาคตครบวงจร เสริมโอกาสธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มค้าส่งที่เชื่อมโยงออนไลน์-ออฟไลน์ (ONLINE-OFFLINE INTEGRATION) ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่ การสรรหาสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งและชำระค่าสินค้า นอกจากนี้การเปิดตัว “AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” ในครั้งนี้ ยังเป็นการร่วมสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นประตูเชื่อมของอุตสาหกรรมการค้าส่งในตลาด AEC หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกว่า 10 ประเทศสมาชิก ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้วยจำนวนประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน อีกทั้งประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเชื่อมต่อการค้าส่งไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวกผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งอีกด้วย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาคอย่างแท้จริง” นางวัลลภา กล่า

ซึ่ง AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ตั้งอยู่ในทำเลเชิงยุทธศาสตร์ ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยพื้นที่กว่า 10 ไร่ โดยมีพื้นที่อาคารรวม (Gross Floor Area) กว่า 67,000 ตารางเมตร โดยศูนย์ค้าส่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อจากประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ให้สามารถเข้าถึงสินค้าจากผู้ประกอบการกลุ่มอาหารชั้นนำทั่วโลกกว่า 600 ราย (600 บูธ) จาก 8 หมวดสินค้า ได้โดยตรง ด้วยราคาต้นทางและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือตรงกับความต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ ข้าว เครื่องดื่ม กาแฟและชา ขนมขบเคี้ยวและขนมหวาน และของใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถพบปะเจรจาธุรกิจกันผ่านออฟไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 365 วัน และออนไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมต่อผู้ซื้อผู้ขายข้ามทวีป

ทั้งนี้การปรับโฉม AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 6,500 ล้านบาท นับรวมตั้งแต่ในช่วงปี 2562  เป็นต้นมา โดยโครงการดังกล่าวภายใต้แนวคิด “INTEGRATED WHOLESALE PLATFORM FOR NON-STOP OPPORTUNITY” AWC ตั้งเป้าให้ “AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ” ก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการค้าส่งอาหารของภูมิภาคที่ครบวงจร พร้อมร่วมสนับสนุนประเทศไทยสู่ประตูเชื่อมการค้าส่งทั่วทุกมุมโลก และเจาะกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจระหว่างคู่ค้าธุรกิจด้วยกันเอง (Business-to-Business : B2B) ผ่าน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1.INTEGRATED BUSINESS PLATFORM: แพลตฟอร์มการค้าส่งแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงประสบการณ์การค้าส่งทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ (O2O Integrated) ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมค้าส่งให้ตอบทุกโจทย์ของผู้ขายและผู้ซื้อ โดยรวมผู้ผลิตจากทั่วโลกมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อบริการลูกค้าทั่วภูมิภาคให้สามารถสรรหาสินค้าคุณภาพหลากหลายได้ครบในที่เดียว พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าส่งที่ครอบคลุม อาทิ คลังสินค้า พื้นที่ขนถ่ายสินค้า แพลตฟอร์ม Phenix Box สำหรับการทำธุรกรรมด้านสินค้าออนไลน์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจค้าส่ง ทั้งในแง่การบริการจัดการธุรกรรมที่ตรงกับธุรกิจได้ง่ายขึ้น อาทิ Bulk Purchase, Group Purchase, Multi-Level Procurement และการจัดส่งที่ครอบคลุม พร้อมสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดและโปรแกรมลูกค้าสัมพันธ์ผ่านระบบ Loyalty Program รวมถึงพื้นที่ Food Lounge และ Taste Kitchen สำหรับจัดแสดงหรือสาธิตการปรุงอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่าย

2.FULL ASSORTMENT: ครบครันทุกความต้องการในที่เดียวด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ประกอบการทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่ส่งตรงจากผู้ผลิตจากทั้งในประเทศและแบรนด์ระดับโลก โดยมีไลน์สินค้าให้เลือกถึง 8 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักจากพันธมิตรชั้นนำ อีกทั้งมีศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ (Solution Service Center: SSC) ที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมถึงการบริการด้านภาษา การจัดแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมการค้าส่งของไทย พร้อมสร้าง Eco-System ของธุรกิจค้าส่งอย่างต่อเนื่อง

3.NON-STOP OPPORTUNITY: เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง(WHOLESALE ECO-SYSTEM) ตอบโจทย์อนาคตครบวงจรกับโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายแบบไร้ขีดจำกัด ผ่านการร่วมรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หอการค้าจากประเทศต่างๆ และภาคเอกชน รวมถึง อี้อู (Yiwu) ที่พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านกลยุทธ์การตลาดที่ครบครัน อาทิ การจัดกิจกรรม Networking หรือ กิจกรรมสัมมนา ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเจรจาธุรกิจกันได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง

โดยสินค้าที่เป็นอาหารที่จะนำมาขายในโครงการนี้จะไม่มีสินค้าสดมาจำหน่าย มีพี้นที่เช่าในโครงการเบื้องต้นกว่า 30,000 ตารางเมตร และคิดอัตราค่าเช่าแก่ผู้ประกอบการรายเล็กเฉลี่ย 30,000-50,000 ต่อเดือน ส่วนผู้เช่าพื้นที่ในปัจจุบันยังคงเช่าพื้นที่ตามสัญญาเช่า และในส่วนของร้านจำหน่ายสินค้าไอที 2 ร้าน ได้แก่ Banan IT และ JIB โดยโฉมใหม่ของ AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ จะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 นี้

“มองว่าการเติบโตของธุรกิจอาหารในอาเซียนยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่อาเซียนเป็นแหล่งของวัตถุดิบอาหารของโลก มีจำนวนประชากรที่มาก และเป็นภูมิภาคที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้มูลค่าอาหารของอาเซียนเติบโตขึ้นต่อเรื่อง ซึ่งประเมินว่ามูลค่าตลาดอาหารในอาเซียนจะเพิ่มเป็น 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นโอกาสของโครงการ AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ ในการเป็นศูนย์รวมผู้ซื้อและผู้ขายอาหารในอาเซียน”นางวัลลภา กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*