สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย  โชว์โมเดลเชิงรุกอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยช่วยลดภาวะโลกร้อน จับมือผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” กางโรดแมป 7 มาตรการตามแนวทางระดับโลก เตรียมเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2593

ดร. ชนะ  ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเป้าหมายหลักดำเนินงานร่วมกันของสมาชิก TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของไทย ด้วยการผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” มาตรฐาน มอก. 2594 หรือปูนลดโลกร้อน ที่มีเทคโนโลยีการผลิตทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง ตาม Thailand NDC Roadmap ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU)

TCMA ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ทำให้เมื่อสิ้นปี 2564 ลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 300,000 ตัน CO2 และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  ภายใต้ ‘MISSION 2023’ ส่งเสริมใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ ในทุกประเภทงานก่อสร้าง แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเดิม โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ในปี 2566”

โดยTCMA ได้ร่วมมือกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) จัดทำ ‘Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050’ ที่ได้รับการรับรองจาก European Cement Research Academy (ECRA) ตั้งเป้าสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ด้วย 7 มาตรการหลัก คือ  ลดจากกระบวนการผลิตปูนเม็ด,ลดการใช้ปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ อาทิ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 หรือพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ๆ,เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคอนกรีต

รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์/กักเก็บ,ใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การนำพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น ,ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยคอนกรีต และเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบและก่อสร้าง เช่น นำเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้าง (BIM) มาใช้ เพื่อลดการสูญเสียตลอดกระบวนการก่อสร้าง

โดยจากข้อมลในการประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ คาดการณ์ว่า ระยะแรก 2563-2573 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ครึ่งหนึ่ง จากการเพิ่มการใช้วัตถุดิบทางเลือกทดแทนการใช้ปูนเม็ด  ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหาเชื้อเพลิงทดแทน เปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงเป็นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น  เพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบส่วนผสมคอนกรีต รวมถึงการออกแบบและก่อสร้าง หลังจากนั้นในปี 2574 เป็นต้นไป เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์/การกักเก็บ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) จะมีส่วนสำคัญในนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่ Net Zero

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*