เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส เจ้าของแบรนด์ Green Circular by CPAC Green Solution ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้และบริการกำจัดกากอุตสาหกรรม ผนึกกำลังสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมกับลุ่มศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตถุงมือยางชั้นนำ ศึกษาการนำวัสดุเหลือใช้และวัสดุพลอยได้อื่นๆ จากอุตสาหกรรมถุงมือยางมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตซีเมนต์ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นางสาวอุมาพร เจริญศักดิ์ (Waste Circularity Business Director) บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวว่า โลกปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนจากภาวะเรือนกระจก กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คน สัตว์ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงได้ร่วมลงนามกับบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ร่วมพัฒนา ศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

โดยผ่านการศึกษาแนวทางการบริหารเศษวัสดุเหลือใช้และวัสดุพลอยได้อื่นๆ จากกระบวนการผลิตถุงมือยาง อาทิ เถ้าลอย ตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอาศัยการแลกเปลี่ยนในการจัดการวัตถุดิบ และระบบการบริหารจัดการ เพื่อช่วยลดการจัดการวัสดุเหลือใช้ให้เป็นวัสดุทดแทน หรือพลังงานทดแทน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใหม่

ทั้งนี้ความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการต่อยอดขยายผลความร่วมมือและสานต่อความสำเร็จจากเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ระหว่างกลุ่มศรีตรังโกลฟส์กับสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ โดย Green Circular by CPAC Green Solution ที่ได้ร่วมมือกันผ่านโครงการเพิ่มมูลค่าแก่วัสดุหรือของเสียที่ไม่ใช้แล้ว จากการนำโมลด์หรือแม่พิมพ์ซึ่งใช้ในการผลิตถุงมือยางคุณภาพสูงจาก STGT ที่ผ่านการใช้งานแล้ว นำกลับมาเป็นวัตถุดิบหมุนเวียน เพื่อใช้ผลิตเป็นวัสดุทนไฟ

ขณะที่ Green Circular มีเครือข่ายโรงงานซีเมนต์  และอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ วัสดุทนไฟ ทั้งในภาคกลาง เหนือ และใต้ ที่สามารถนำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงใช้งานในลักษณะ Co-processing ช่วยจัดการทรัพยากรหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี

ด้านนายวิทย์นาถ สินเจริญกุล กรรมการและประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กล่าวว่า ความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง STGT และ SRIC ในโครงการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วได้ผลเป็นอย่างดี โดยตั้งแต่สิงหาคม 2565 บริษัทได้ส่งมอบโมลด์หรือแม่พิมพ์ถุงมือที่ผ่านการใช้งานแล้วให้ทาง SRIC ประมาณ 557 ตัน ส่วนปีนี้ตั้งเป้าส่งมอบจำนวน 1,600 ตัน

ส่วนการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็มการจัดการวัสดุเหลือใช้ ขยายผลด้วยการศึกษาแนวทางการบริหารเศษวัสดุเหลือใช้และวัสดุพลอยได้อื่นๆ จากกระบวนการผลิตถุงมือยาง อาทิ เถ้าลอย ตะกอนจากการบำบัดน้ำเสีย มาศึกษาวิจัยต่อในเรื่อง Waste to Energy และ Waste to Material  ช่วยเสริมการช่วยผลักดันการใช้พลังงานสะอาดและตอบโจทย์แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของบริษัทตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยบริษัทมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล 100% จากวัตถุดิบหมุนเวียน ซึ่งใช้ในการผลิตถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ เช่น ไม้ยางพาราหมดอายุ หรือไม้ยางพาราที่หยุดผลิตน้ำยางแล้ว

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*