นับเวลาถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมง วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกาจนถึงเวลา 20 นาฬีกา  รถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเปิดบริการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ครบทั้ง 30 สถานีให้ประชาชนได้ทดลองนั่งฟรี และตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนเป็นต้นไปจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาจนถึงเวลา 20 นาฬีกาต่อเนื่องไปทุกวัน

โดยประชาชนสามารถกดบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียว (Single Journey Card) ได้ที่ตู้จำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ หรือใช้บัตร Rabbit ในการเดินทางเข้าสู่ระบบ

ส่วนการเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยคิดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท

อัพเดทงานก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้างานโยธา 98.30% งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) 99.24% ส่วนความก้าวหน้ารวมอยู่ที่ 98.78%

ทั้งนี้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ถือเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้สะดวก และเป็นรถไฟฟ้าสายที่ 2ของจังหวัดนนทบุรี ต่อจากรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงที่เปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้

ที่สำคัญมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี,รถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ที่สถานีหลักสี่,รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

โดยมีจุดเริ่มที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงแบบ Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของทั้งสองสถานี มีทางเดิน Skywalk และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator)เชื่อมต่อกันด้วย ระยะทางประมาณ 346 เมตร คาดว่าจะเปิดให้ใช้เดินทางได้ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ยังมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่สถานีหลักสี่ (PK14) โดยเป็นการเชื่อมต่อแบบ Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดง(ช่วงบางซื่อ – รังสิต) มีระยะทางเดินเชื่อมต่อกันประมาณ 180 เมตร

และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area

รวมทั้งยังมีทางเดิน Skywalk ระหว่างสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) ชั้นออกบัตรโดยสาร ฝั่งทางออกที่ 3 กับ อาคารจอดรถของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ระยะทางเชื่อมต่อประมาณ 213 เมตร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาติดต่อกับหน่วยงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ

และอีกหนึ่งไฮไลท์ของรถไฟฟ้าสายนี้ คือ มีส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร อัพเดทงานก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคม มีความก้าวหน้างานโยธา 41.76% งานระบบรถไฟฟ้า (M&E)  23.34% และมีความก้าวหน้ารวม 35.56%

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา

โดยมีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14

สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี

-ขบวนรถไฟฟ้ามีทั้งหมด 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 17,000 คน/ชั่วโมง/เที่ยว หรือขบวนละ 568 คน

-ใช้ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบขับเคลื่อนมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร ระบบจ่ายไฟกระแสตรง 750 โวลต์ รัศมีโค้งแนวราบแคบสุด 46 เมตร

-จุดสูงสุด 27 เมตร จากพื้นถนน ข้ามทางด่วนพิเศษฉลองรัช อยู่ระหว่างสถานีมัยลาภ (PK20) – วัชรพล (PK21)

-มีจอบอกเวลาขบวนถัดไป

-ภายในสถานี และขบวนรถมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ลิฟต์, บันไดเลื่อน, ทางลาดคนพิการ, ห้องปฐมพยาบาล, อาคารจอดแล้วจร ,ห้องน้ำ, ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ และพื้นที่สำหรับรถเข็นคนพิการ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*