มติที่ประชุมคณะรัฐมนตีเมื่อวัน 26 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาโดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญทั้งหมด 40 เรื่อง หนึ่งในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจสังหาริมทรัพย์ คือ เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 แก่ประชาชน (กระทรวงการคลัง) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

เห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขาย ห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ

มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม จำนวน 1 มาตรการ ซึ่งจะต้องดำเนินการออก ร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ดังนี้

1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. …. เป็นการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ [จากเดิมร้อยละ 2 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497] เหลือร้อยละ 1 (อัตราคงเดิมเหมือนในปี 2566) และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวในคราวเดียวกัน (จากเดิมร้อยละ 1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47ฯ) เหลือร้อยละ 0.01 (อัตราคงเดิมเหมือนในปี 2566) สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว ที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. …. เป็นการลคค่าจดทะเบียนการโอนห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด จากเดิมร้อยละ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารชุด พ.ศ. 2553 เหลือร้อยละ 1 (อัตราคงเดิมเหมือนในปี 2566) และลดค่าจดทะเบียนจำนองห้องชุด อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนการโอนในคราวเดียวกัน เหลือร้อยละ 0.01 (อัตราคงเดิมเหมือนในปี 2566) สำหรับห้องชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วนซึ่งร่างกฎกระทรวงตามข้อ 3.1 จะเป็นการสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยกระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียทั้งสิ้นประมาณ 1,897 ล้านบาท

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*