ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆสำหรับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) หลังจากที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้วรวม 4 ครั้ง  ปรากฏว่ามีประชาชนหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมาก ตามที่เคยเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป้นสภาผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน พรรคการเมือง และประชาชน ต่างร่วมกันคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพราะมองว่า ขัดมาตรา 9 ..ผังเมืองขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่แรกไม่รับฟังชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการขยายถนนและถูกเวนคืนที่ดิน โดยไม่ได้แจ้งหรือรับข้อมูลจาก กทมมาก่อน ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่างยืนยันที่จะคัดค้านจนกว่าจะได้รับการชี้แจง และความยุติธรรม
เจาะ 11 พื้นที่รอบกทม.การใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยน
โดยในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์บนที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริง และสอดคล้องกับการพัฒนาของเส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ มากกว่าฉบับปี 2556 ซึ่ง ณ ตอนนั้น เส้นทางรถไฟฟ้าหลายเส้นทางยังไม่เริ่มการก่อสร้าง ที่ดินหลายๆ พื้นที่จึงยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนศักยภาพ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว เส้นทางรถไฟฟ้าหลายเส้นทางเปิดให้บริการแล้ว แต่ศักยภาพของที่ดินยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เจ้าของที่ดินเสียประโยชน์หรือยังไม่เกิดการพัฒนาใดๆ บนที่ดินในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะเจ้าของที่ดินต้องการรอดูการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร  (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  สร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เพิ่งเปิดให้บริการหลังจากปี 2556 เป็นต้นมา และบางพื้นที่ที่มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนการพัฒนาระยะสั้นของกรุงเทพมหานครก็มีการปรับเปลี่ยนศักยภาพของที่ดินแล้วในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครครั้งนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ทั้งด้านผังสี FAR และพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า จะมีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าที่เป็นสถานีร่วม

ที่ดินหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของศักยภาพของที่ดินโดยการเปลี่ยนข้อบังคับตามผังสีหรือประเภทการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยมีพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้ประโยชน์บนที่ดินแบบชัดเจน อยู่ 11 พื้นที่หลักๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 11 พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงเพราะศักยภาพของที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วและกำลังจะเปลี่ยนแปลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจากการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และตามที่มีแผนการก่อสร้างแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน เพื่อให้ศักยภาพที่ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับโครงการต่างๆ และตามศักยภาพที่ควรจะเป็น โดย 11 พื้นที่หลักๆ ของกรุงเทพมหานครที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์บนที่ดินแล้วแบบชัดเจนตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตามตารางดังนี้

ที่มา : ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่ 4) รวบรวมโดย พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ

FAR : อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน 1 ส่วน

AR = อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน 1 ส่วน

OSR = อัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (ร้อยละต่อพื้นที่อาคารรวม)

กลุ่มทุนรายใหญ่รอรับอานิสงส์ หากประกาศใช้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนแน่

โดยที่ดินหลายๆ พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครกำลังจะมีศักยภาพมากขึ้น ถ้าพิจารณาในเรื่องของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน 1 ส่วน (FAR) ที่มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนเหนือของถนนลาดพร้าวขึ้นไปถึงถนนรามอินทรา และต่อเนื่องไปถึงย่านมีนบุรี เพราะเป็นพื้นที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งที่เปิดให้บริการ และกำลังก่อสร้าง รวมไปถึงมีแผนจะพัฒนาในอนาคต เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพู สายสีเหลืองที่เปิดให้บริการแล้ว สายสีส้มที่กำลังก่อสร้าง สายสีเทา สายสีน้ำตาลที่อยู่ในแผนการพัฒนา ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ศักยภาพของพื้นที่จะมากขึ้นในอนาคต เจ้าของที่ดินหลายๆ แปลงรอการเปลี่ยนแปลงของศักยภาพที่ดินมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะที่ดินบนถนนลาดพร้าว รามอินทรา ประเสริฐมนูกิจ และประดิษฐ์มนูธรรม จุดที่เป็นสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้ากลายเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมแน่นอนแล้วตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เช่น พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้ามีนบุรี ผู้ประกอบการหลายรายเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม และพาณิชยกรรมกันแล้ว

พื้นที่ในเขตคลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง ซึ่งในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปี 2556 มีส่วนที่เป็นพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว หรือพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำหลากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร อยู่ค่อนข้างใหญ่ และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตคลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง และมีข้อจำกัดในการพัฒนาที่ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องของการสร้างบ้านเดี่ยวได้อย่างเดียว และต้องเป็นบ้านเดี่ยวที่สร้างบนที่ดินที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ตารางวา และห้ามสร้างสูงเกิน 12 เมตรด้วย แต่ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการปรับให้ขนาดของพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว หรือพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) ลดลง แม้ว่าจะยังมีพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว หรือพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) อยู่ แต่ก็ลดน้อยลงไปมาก และพื้นที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.3) ซึ่งมีข้อจำกัดในการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.3) สามารถพัฒนาบ้านเดี่ยวได้บนที่ดินที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ตารางวา แต่ความสูงยังห้ามเกิน 12 เมตรเช่นเดิม แต่พื้นที่ก.3 มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อที่ดิน (FAR) ที่อัตรา 1 : 1 และอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) ที่ร้อยละ 40 ซึ่งลดลงจากฉบับปี 2556 ซึ่งยังเป็นพื้นที่ ก.1 อยู่เพราะตอนนั้นมี FAR 0.5 : 1 และมี OSR ร้อยละ 100 นั่นหมายความว่าสามารถสร้างบ้านเดี่ยวได้ในที่ดินเล็กกว่า 1,000 ตารางวามี FAR = 1 : 1 และพื้นที่ว่างร้อยละ 40 ของพื้นที่รวมอาคาร หรือใช้ที่ดินเล็กลงเพื่อสร้างบ้านได้ใหญ่ขึ้น แต่ข้อจำกัดในพื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว หรือพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์ ซึ่งในอดีตอาจจะเป็น 1 ในพื้นที่ที่มีโครงการบ้านจัดสรรอยู่จำนวนมาก เพิ่งจะเริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเส้นทางรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการ แต่โครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้ก็ยังคงกระจุกตัวอยุ่ในพื้นที่ไม่ไกลจากสถานีแอร์พอร์ตเรล ลิงก์ หรือถ้าเป็นพื้นที่ที่ไกลออกไปจะอยู่ในซอย และเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่เป็นอาคาร 7 – 8 ชั้นเท่านั้น การปรับให้ FAR เพิ่มขึ้นเป็น 4 จาก 3 อาจจะไม่มาก แต่สามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มีขนาดของพื้นที่อาคารมากกว่า 10,000 ตารางเมตรในพื้นที่ติดถนนศรีนครินทร์ได้แล้วก็ดีกว่าผังเมืองฉบับปี 2556

อีก 1 พื้นที่ที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองกรุงเทพมหานครครั้งนี้ คือ พื้นที่ตามแนวถนนลาดพร้าวซึ่งมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรามอินทราที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู รวมไปถึงพื้นที่ตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจหรือถนนเกษตรนวมินทร์ ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลในอนาคต ซึ่งสามารถพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรมที่มีขนาดพื้นที่มากกกว่า 10,000 ตารางเมตรได้แล้ว ซึ่งมีนายทุนรายใหญ่มากกว่า 1 ราย รอคอยมานานหลายปี และเก็บที่ดินไว้นานมาก ซึ่งถ้าปี 2568 ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีการประกาศใช้อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในพื้นที่นี้

การที่สำนักงานผังเมืองฯ ต้องการกระจายพื้นที่พาณิชยกรรมให้ออกไปในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น เป็นอีก 1 วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของผังเมืองฯ ฉบับนี้ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนผังสี และศักยภาพในการพัฒนาในบางพื้นที่ให้สามารถรองรับการพัฒนาโครงการพาณิยกรรมได้มากขึ้น พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้ามีนบุรีซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าร่วมระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีส้ม ซึ่งมีการขยายพื้นที่ของผังเมืองสีแดง ประเภทพาณิชยกรรมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น และการพัฒนาอาคารขนาดใหญ่สามารถทำเพราะ FAR มากขึ้น และเงื่อนไขในการพัฒนาอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำได้ ซึ่งก็มีข่าวออกมาบ้างแล้วว่าจะมีโครงการพาณชิยกรรมขนาดใหญ่ และโครงการที่เป็นอาคารสูงเกิดขึ้นในอนาคต เพียงแต่อาจจะต้องรอถึงปี 2568 จึงจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

ผู้ประกอบการอสังหาฯรับอานิสงส์มากกว่าประชาชน

ในด้านพื้นที่ฝั่งธนบุรี ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่พาณิชยกรรมในฝั่งธนบุรีมีมากขึ้น เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบนถนนเจริญนคร  ซึ่งทางสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมย่อยในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นอกเหนือจากพื้นที่พาณิชยกรรมหลักของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการกระจายความหนาแน่น และเพิ่มพื้นที่พาณิชยกรรมรอบๆ กรุงเทพมหานครให้มากขึ้น  ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการของภาคเอกชนเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ไอคอนสยาม และไอซีเอส รวมไปถึงโครงการของรัฐบาล เช่น ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย บนถนนเจริญนคร ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนคนในพื้นที่อีกช่องทางหนึ่ง โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร ปรับเปลี่ยนศักยภาพของที่ดินให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตแล้ว

ที่ดินในพื้นที่ฝั่งธนบุรีเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของศักยภาพที่ดินค่อนข้างมาก และครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าที่เข้ามาก่อนหน้านี้ เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายสีทอง และเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนการพัฒนา เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก หรือเส้นทางส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และส่วนต่อขยายสายสีแดง ที่แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจน แต่มีแนวเส้นทางอยู่ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้ของพื้นที่ต่างๆ ในฝั่งธนบุรีอาจจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เพราะติดเรื่องของการใช้ประโยชน์บนที่ดินทั้งในเรื่องของ FAR ที่ไม่มากพอกับการเปลี่ยนแปลง และเรื่องของเขตห้ามก่อสร้างอาคารสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และพื้นที่รอบๆ วงเวียนใหญ่ เป็นต้น

ที่ดินรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าตลิ่งชัน กลายเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม หรือพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.4) ซึ่งมีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร คือ ขนาดที่ดินต่ำสุดในโครงการจัดสรรต้องไม่ต่ำกว่า 100 ตารางวา และห้ามบ้านที่มีความสูงเกิน 12 เมตรซึ่งผู้ประกอบการที่เข้ามาพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรที่บ้านมีขนาดใหญ่ และมีราคาขายที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อข้อกำหนดในร่างผังเมือรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดนี้ให้มีขนาดพื้นที่ลดลง เปิดทางให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรขนาดเล็กลง และมีราคาขายต่ำลงได้บางพื้นที่ เช่น พื้นที่ตามแนวถนนสุขสวัสดิ์ ที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน – ครุใน) มีการปรับให้มีศักยภาพมากขึ้นตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และรูปแบบของการใช้ประโยชน์บนที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต

“ถ้าผังเมืองประกาศใช้ ราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะที่ดินสามารถสร้างบ้านได้เล็กลง แต่จำนวนยูนิตที่มากขึ้น และจะเอื้อให้ผู้ประกอบการซื้อที่ดินพัฒนาโครงการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังมีที่ดินรองรับกันอีกมาก ก็น่าจะได้รับอานิสงส์นี้กว่าประชาชนโดยทั่วไป”

หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครศักยภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งราคาที่ดินปรับเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขึ้นได้ไม่มาก เพราะที่ดินยังมีข้อจำกัดในการพัฒนา เนื่องจากข้อจำกัดในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ที่ดินไม่สามารถพัฒนาได้มากหรือสอดคล้องกับราคาที่ดิน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) การเพิ่มศักยภาพของที่ดินในทุกๆ พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาแน่นอนในอนาคต เพียงแต่คงต้องรอสักระยะ และต้องดูทิศทางของเศรษฐกิจประเทศไทยด้วย

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจจะมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ กลุ่มของนายทุนหรือเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ที่รอการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์บนที่ดินมาหลายปีก็ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เพราะสามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรืออาคารขนาดใหญ่ได้มากกว่าในอดีต ราคาที่ดินมากขึ้นตามศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะมีคนเสียประโยชน์ เพราะอาจจะมีเรื่องแนวถนนหรือเส้นทางต่างๆ ที่ระบุอยู่ในร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งต้องมีการเวนคืนที่ดินถ้ามีการพัฒนาถนนตามที่ระบุในร่างผังเมืองฯ ซึ่งมีแนวเส้นทางหรือพื้นที่ที่อยู่ในข่ายการเวนคืนถนนถึง 148 เส้นทางระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะยังไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน ซึ่งมีทั้งแนวเส้นทางที่จะก่อสร้างใหม่ หรือการขยายถนนหรือซอยเดิมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาถนนที่ระบุในผังเมืองจะมีที่ไม่สามารถพัฒนาได้มากกว่าเส้นทางที่พัฒนาได้ก็ตาม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*