CPANEL เดินเครื่่องเร่งกำลังการผลิตผุดโรงงานแห่งใหม่ แห่งที่ 2 ด้วยเม็ดลงทุนกว่า 500 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 2 ล้านตารางเมตรต่อปี รับโอกาสกลุ่มอสังหาฯเข้าสู่ยุคภาวะ Carbon Neutrality ในปี 2050

นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast) ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า หลังจากที่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 โดยมีจุดมุ่งหมายและพันธกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพเข้าถึงการเงิน เทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 หรืออีก 41 ปี

การประกาศสู่ความเป็น Carbon Neutrality ของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันภาครัฐได้เริ่มดำเนินการแล้วและเชื่อว่าในอีกไม่ช้าจะมีการออกข้อกฎหมายบังคับใช้กับทุกภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหลายเริ่มตระหนักมากขึ้นและหันมาใช้ Precast Concrete มากขึ้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนได้มากถึง 50% และ การผลิต Precast ด้วยระบบอัตโนมัติ จะลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าการผลิตแบบ Manual

ซึ่ง CPANEL ได้ใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ถือเป็นรายแรกของผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ในประเทศไทย โดยผ่านการรับรอง 5 รายการได้แก่ 1. การบริการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป 2. ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป 3. แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป 4. บันไดคอนกรีตสำเร็จรูป 5. คานคอนกรีตสำเร็จรูป มุ่งเน้นกลยุทธ์การเป็น Green Construction Technology ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวางแผนที่จะเปลี่ยนพลังงานเป็น Renewable Energy และเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นวัสดุลดคาร์บอนทั้งหมด รวมทั้งลดการผลิตในรูปแบบสันดาปให้น้อยที่สุด ด้วยการ ติดตั้งระบบเครื่องกำจัดมลภาวะทางอากาศ (Dust Collector) กักเก็บฝุ่น และผงปูนซีเมนต์ในระหว่างขั้นตอนการผลิต รวมถึงติดตั้งเครื่องดัดเหล็กอัตโนมัติ หุ่นยนต์เชื่อมเหล็กเส้น เพื่อลดของเสียจากอุตสาหกรรม

ทุ่ม 500 ล้านบาทเปิดโรงงานแห่งที่ 2 รับการผลิต Precast โต

สำหรับ ทิศทางธุรกิจปี 2567 บริษัทฯเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานเดิม พร้อมเปิดโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ส่งผลให้ CPANEL จะมีกำลังการผลิตรวม 2 ล้านตารางเมตรต่อปี ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 20% พร้อมเพิ่มความสามารถการทำกำไรจากการดำเนินงาน เพื่อรองรับการหันมาใช้ Precast ของผู้พัฒนาอสังหาฯ โดยปีที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมในโรงงานผลิตเดิม จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7.9 แสนตารางเมตรต่อปี จะเพิ่มอีก 25% เป็น 9.9 แสนตารางเมตร และโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/67 นี้ โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท จะส่งผลให้กำลังการผลิตของทั้ง 2 โรงงาน รวมกันราว 2 ล้านตารางเมตรต่อปี

โรงงานแห่งที่ 2 นี้ จะเพิ่มศักยภาพบริหารจัดการควบคุมต้นทุนการผลิตและการขายได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมีกระบวนการผลิตเร็วกว่าเดิม 30% ใช้แรงงานน้อยกว่าเดิม รวมถึงค่าบริหารจัดการและบุคลากรในกระบวนการผลิต จากเดิม 15% ของรายได้ จะลดลงเหลือ 7% โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสการรับงาน รองรับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น และส่งผลให้บริษัทมี Economy of Scale เพิ่มความสามารถการทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ

“การก่อสร้างในรูปแบบของ Conventional Construction ต้นทุนจะสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 5% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนมาใช้ Precast เพราะสามารถควบคุมราคาและมีการปรับตัวไม่สูงมากนัก ไม่เพียงเท่านั้นในอนาคต การก่อสร้างหรือพัฒนาโครงการอสังหาฯจะเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกว่า 75% กับการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และต้องการระยะเวลาขายที่มากขึ้น แต่ใช้เวลาก่อสร้างที่สั้นลง จึงเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ Precast เติบโตและเลือกใช้ในการก่อสร้างโครงการอสังหาฯ ตลอดจนปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายราย พัฒนาโครงการต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นสิ่งที่ตามมาคือปัญหาในการหาผู้รับเหมาก่อสร้างยากซึ่ง Precast จะเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการลดลงของปัญหาก่อสร้างและหารว่าจ้างผู้รับเหมา โดย 6 จังหวัดที่ได้รับความนิยมสูง คือ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช และ ขอนแก่น” นายชาคริตกล่าว

สำหรับในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าที่ 425.82 ล้านบาท มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สูงถึง 96.32% และมีกำไรสุทธิ 62.71 ล้านบาท โดยณ. วันที่ 30 มกราคม 2567 มูลค่างานตามสัญญา (Backlog) จากสัญญาที่ลงนามเรียบร้อยแล้วประมาณ 1,565.47 ล้านบาท มี Backlog จะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567 จำนวน 654.12 ล้านบาท และ ปี 2568 จำนวน 911.35 ล้านบาท

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*