นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2567 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะค่อนข้างเงียบ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีในช่วงปลายปี 2566 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคักมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูสขนาดใหญ่จำนวนมากที่กำลังดำเนินอยู่ และมี 2 โครงการที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ โดยโครงการเหล่านี้จะกำหนดมาตรฐานใหม่ด้านการออกแบบและการพัฒนาสำหรับพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน และพื้นที่เพื่อความบันเทิง

“การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีปี 2566 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 2.4% ส่วนปีนี้คาดการณ์ว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 3.2% อย่างไรก็ตามด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง จึงมีการประเมินกันว่าตัวเลขจีดีพีตลอดทั้งปี 2567 อาจถูกปรับลดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ แม้ว่าแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวทจะเพิ่มขึ้นก็ตาม รวมทั้งยังมีแรงผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติม แต่เศรษฐกิจภายในประเทศกลับอ่อนแอลงตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่เป็นผลจากความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นและเป็นปีแห่งการเลือกตั้งครั้งสำคัญทั่วโลกที่กำลังจะมาถึง”

 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและจีดีพีที่อ่อนแอ ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อภาคที่อยู่อาศัย แม้ว่าผู้พัฒนาโครงการหลายรายจะประกาศแผนเพิ่มจำนวนการเปิดตัวใหม่ทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมในปี 2566 แต่หลังจากที่ผู้พัฒนาโครงการได้ใช้เวลาในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเชิงลบทั้งในประเทศและทั่วโลกที่มีผลต่อความสนใจการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้มีการเปิดตัวโครงการทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2565

โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีการเติบโตต่อเนื่องและมีการแข่งขันสูงมาก โดยผู้พัฒนาโครงการเน้นสร้างความแตกต่างเพื่อปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของตลาดอยู่เสมอ ส่วนแนวโน้มสำหรับช่วงต้นปีนี้ ประเมินว่าตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองจะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯ ระดับลักชัวรีและซูเปอร์ลักชัวรี ที่เน้นจำนวนยูนิตน้อย โดยมีหลายโครงการที่มีจำนวนต่ำกว่า 100 ยูนิต และเน้นยูนิตขนาดใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ซื้ออยู่อาศัยเองในประเทศ และเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนการเปิดตัวโครงการคอนโดฯใจกลางเมืองจะสูงกว่าในปี 2566 แต่ผู้พัฒนาโครงการจำนวนมากก็ยังไม่เปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการจนกว่าจะได้รับความเชื่อมั่นเพียงพอจากแคมเปญการตลาดก่อนเปิดตัวตามเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าการเปิดตัวโครงการส่วนใหญ่จะเลื่อนไปในช่วงครึ่งปีหลังแทน

ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมีความคึกคักเป็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากดีมานด์สะสมรวมถึงดีมานด์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้ปีนี้มีการเปิดตัวโครงการบ้านน้อยลง  เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการคำนึงถึงซัพพลายที่เพิ่มขึ้นและนโยบายการให้สินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งสินเชื่อโครงการและสินเชื่อรายย่อย โดยจะเน้นไปที่ตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนราคา 15 – 30 ล้านบาท ซึ่งยังมีดีมานด์ที่แท้จริง

นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกจะมีการเปิดตัวโครงการน้อยลง โดยคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นเชิงบวกมากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ลดลง พร้อมกับการเปิดตัวโครงการที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ขณะที่ตลาดคอนโดฯมือสองจะได้รับความสนใจต่อเนื่องสำหรับยูนิตขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ซื้อสามารถรีโนเวทห้องให้ได้มาตรฐานสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ายูนิตสร้างใหม่

นอกจากนี้ห้องชุดยูนิตใหม่ตกแต่งพร้อมเฟอร์นิเจอร์ครบและสามารถเข้าอยู่ได้เลยจะเป็นที่นิยมเช่นกัน เนื่องจากผู้ซื้อสามารถเห็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์โดยไม่ต้องดำเนินการใดๆก่อนย้ายเข้า

ส่วนดีมานด์การซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศสำหรับคนไทย จะมุ่งเน้นไปที่สหราชอาณาจักรเพื่อการศึกษาหรือแหล่งท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ชั้นนำ เช่น มัลดีฟส์หรือญี่ปุ่น

ส่วนทิศทางของตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของผู้เช่าใหม่และบริษัทเดิมที่โยกย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่ เช่น โครงการวัน ซิตี้ เซ็นเตอร์ และพาร์ค สีลม ถือเป็นการเพิ่มขีดคุณภาพพื้นที่สำนักงานอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีพื้นที่อีกมากกว่า 850,000 ตารางเมตรจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้เช่าได้เปรียบเป็นอย่างมากในการเลือกหาเงื่อนไขการเช่าที่ดี อย่างไรก็ตามอาคารสำนักงานยุคใหม่ที่ได้มาตรฐานระดับสากลเหล่านี้จะเพิ่มแรงกระตุ้นไปยังอาคารสำนักงานเก่า โดยเฉพาะอาคารสำนักงานเก่าที่มีอายุมากกว่า 25 ปีที่มีอยู่มากกว่า 60% ในช่วงท้ายของปีที่ผ่านมา มีความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินต่อไปในปี 2567

นายศรุต วีรกุล ผู้อำนวยการ แผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2567 นี้บริษัทหลายแห่งกำลังพิจารณาการย้ายออฟฟิศไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ส่วนอาคารเดิมที่ได้รับการดูแลอย่างดี ผ่านการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ให้มีมาตรฐานระดับสูงจะสามารถรักษาจำนวนผู้เช่าบางส่วนไว้ได้ โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่มีนโยบายการทำงานแบบไฮบริด ในขณะที่บริษัทอื่นๆ จะตัดสินใจย้ายออฟฟิศเมื่อได้รับผลประโยชน์ที่น่าดึงดูดจากเงื่อนไขการเช่าจากผู้ให้เช่าที่ต้องการเพิ่มอัตราการเช่าสำนักงาน

นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกจะกลับมามีฟื้นตัวเต็มที่ พร้อมต้อนรับลูกค้าให้กลับเข้าไปใช้บริการที่หน้าร้าน โดยที่ศูนย์การค้าหลายแห่งได้มีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ รวมถึงการเปิดตัวโครงการใหม่  รองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ถือเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักต่อห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ และคาดว่าจะมีร้านค้าปลีกเพิ่มมากขึ้นในปี 2567

โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูส ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้นสำหรับการจับจ่ายใช้สอย โดยเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกและผู้ค้าปลีกจะพยายามใช้ประโยชน์จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มากขึ้นและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น มุ่งเน้นไปที่การมอบประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และความบันเทิงเพื่อดึงดูดลูกค้ามาที่ร้านค้า

นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวถึงภาคธุรกิจโรงแรมว่า ในปี 2566 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 150% ต่อปี แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาเท่ากับปี 2562 แต่ในปี 2566 โรงแรมในกรุงเทพฯ สามารถทำสถิติใหม่จากตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลักในด้านอื่น ด้วยอัตราเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับตัวเลขสูงสุดในปี 2561 ส่งผลให้รายได้จากห้องพักสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับแนวโน้มในปี 2567 ภาคธุรกิจการบริการยังเป็นไปในทิศทางที่ดี แม้ว่าการเปิดตัวโรงแรมใหม่จะทำให้ตลาดยังคงมีการแข่งขันที่สูง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*