กลุ่มบีทีเอส เปิดกว้างพันธมิตรร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลัก รับคุยเจ้าสัวซีพี-“ธนินท์ เจียรวนนท์”ผนึกกำลังเสริมศักยภาพ ด้านปัญหาคอขวด สถานีสะพานตากสิน อยู่ในขั้นตอนทำEIA ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง  จาก 145 เหลือ 65 บาทยังถกไม่จบ

 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BTSC  ผู้เดินรถไฟฟ้าบีทีเอส  บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส โฮลดิ้งส กรุ๊ป  จำกัด(มหาชน)หรือBTS เปิดเผยว่าจาการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.)  ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลัก ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. โดยราคาโครงการอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งBTSC เองอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง(TOR)โดยจะจับมือกับพันธมิตร คือ BSR ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง BTS -บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ RATCH และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC ที่จะเข้าร่วมกันประมูลโครงการดังกล่าวด้วย ล่าสุดมีบริษัทต่างชาติ 2 รายจากเอเชียและยุโรป สนใจที่จะมาร่วมกับกลุ่มBTSในการประมูลโครงการดังกล่าวด้วย  ซึ่งทั้ง 2 รายดังกล่าว มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการบริหารที่ดิน,การก่อสร้างและการขายรถไฟฟ้า  เป็นต้น ซึ่งตนไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ในขณะนี้

 

นอกจากนี้ที่ผ่านมาตนได้เคยเจรจากับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มาโดยตลอด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะประมูล ก็จะสามารถร่วมมือกันได้ ด้วยการเสนอบางโครงการเข้าไปร่วมทุนด้วย เพราะแต่ละโครงการคิดเป็นเม็ดเงินที่มหาศาล และกลุ่มซีพีเองก็เป็นบริษัทที่ใหญ่มาก จึงมีศักยภาพที่จะสามารถร่วมมือกันได้

 

“โครงการนี้เป็นโครงการระดับประเทศ ไม่มีใครทำเองได้ทั้งหมด  ไม่ว่าใครจะชนะการประมูล ก็คงไม่มีใครใจแคบที่จะไม่ช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ซึ่งทุกๆบริษัทต้องนึกถึงวันข้างหน้า เพราะการทำ Infrastructure เป็นการลงทุนระยะยาว และมีความมุ่งมั่นจริงๆ แม้ว่าในอดีตเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาจะเป็นการลงทุนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม”นายคีรี กล่าว

 

 

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)บริษัทได้วางระบบวิทยุสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณ จะใช้คลื่นความถี่ย่าน 5800 MHz โดยมีบอมบาดิเอร์ดูแลด้านงานระบบด้วย โดยบริษัทไม่ได้หวังผลกำไรจนละเลยการลงทุน เพื่อให้การให้บริการเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่น จะเห็นว่าหลายเรื่องที่บริษัทฯดำเนินการเกินมาตรฐาน โดยได้สั่งซื้อรถไฟฟ้าใหม่ จำนวน  46 ขบวน ๆละ 4 ตู้ ซึ่งจะเข้ามารองรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2561 นี้ ซึ่งขบวนแรกจะเข้ามาต้นเดือนสิงหาคมนี้  และรองรับสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างด้วย

 

 

 

ด้านความคืบหน้าารปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า สถานีสะพานตากสิน ที่เป็นปัญหาคอขวดนั้น ที่ผ่านมาทางBTSC ได้ช่วยกรุงเทพมหานคร (กทม.)ออกแบบไปแล้ว และได้ส่งเรื่องไปที่กรมทางหลวงชนบท(ทช.)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หากผ่านแล้ว จึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี เพราะต้องดำเนินการขยายถนนก่อน เพื่อขยายรางรถไฟสร้างเป็นทางคู่ให้ขบวนรถสามารถวิ่งสวนทางกันได้ โดยจะมีการสร้างชานชาลาเพิ่มเติมด้วย  และการทำEIA นั้นควรดำเนินการตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งตนรู้สึกเสียดายเวลามาก

 

ส่วนกรณีที่กทม. ต้องการให้ BTSC สนับสนุนเรื่องเงินทุนในการที่กทม.จะไปรับมอบสินทรัพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าBTSC จะลงทุนให้ก่อนโดยแลกกับการขยายอายุสัญญาสัมปทาน

 

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  ได้มีแนวคิดต้องการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จาก 145 บาท เหลือไม่เกิน 65 บาทนั้น ตนมองว่าเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์  เพราะเป็นระดับราคาที่ประชาชนสามารถจ่ายได้ แต่จะให้BTSC แบกรับภาระทั้งหมดคงไม่ได้ ซี่งคงต้องมีการเจรจากับกทม.อีกว่าจะหามาตรการอย่างไรออกมาช่วยเหลือ