นายวัชระ ปิ่นเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัชราดล จำกัด และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ฉะเชิงเทรา

สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา โชว์วิสัยทัศน์เล็งปั้นเป็นจังหวัดให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตรองรับคนจากกรุงเทพฯและแรงงานที่ย้ายมาในพื้นที่ อีอีซี พร้อมชงรัฐผันงบลงโครงการตัดถนนเพิ่มเปิดหน้าดินพัฒนาโครงการใหม่ ระบุ 3 ปี ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว

 

นายวัชระ ปิ่นเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัชราดล จำกัด ในฐานะนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า สมาคมฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มดีเวลอปเปอร์ในจังหวัดฯ จำนวน 30 ราย ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา และทำการจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลักดันการพัฒนาโครงการต่างๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างจังหวัดฯ ให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต สามารถรองรับประชากรที่เลือกจะเดินทางไปกลับที่ทำงานในกรุงเทพฯ และคนที่ย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังต้องการ ทำงานร่วมกับสมาคมอสังหาฯ ของจังหวัดชลบุรีและระยอง เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและโซนที่อยู่อาศัย ใน 3 จังหวัดอีอีซี

 

ชู 4 เป้าหมายสู่เมืองน่าอยู่แห่งอนาคต

สมาคมฯ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานภายในปี 2561-2562 ไว้ 4 หัวข้อ ประกอบด้วย 1) การจัดอบรมร่วม กับหน่วยงานรัฐให้แก่สมาชิก เพื่อสร้างความเข้าใจต่อข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ โดยเฉพาะด้าน ภาษี 2) พัฒนาศักยภาพของดีเวลอปเปอร์ในจังหวัดฉะเชิงเทราในด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ 3) ผนึกกำลังกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรีและระยอง เพื่อเพิ่มบทบาท ในการกำหนดผังเมืองในพื้นที่อีอีซี และ 4) เร่งรัดนโยบายก่อสร้างถนนหลักเส้นใหม่ เพื่อเพิ่มเส้นทางคมนาคมและ เปิดหน้าดินใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง

 

ทั้งนี้ ฉะเชิงเทราจึงเป็นจังหวัดที่ถูกวางให้เป็นเมืองน่าอยู่แห่งอนาคตของแผนพัฒนาอีอีซี และกำลังได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการเข้ามาพัฒนา จะมีเม็ดเงินหลักแสนล้านถูกนำเข้ามาใช้ กับโครงการต่างๆ ในพื้นที่ทั่วจังหวัด เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และเมืองฉะเชิงเทรา รวมถึงการขยาย ตัวของอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ระยอง และของจังหวัดฉะเชิงเทราเอง ซึ่งปัจจุบันฉะเชิงเทรามีนิคม อุตสาหกรรมรวม 6 แห่ง นอกจากนี้ภายใต้แผนพัฒนา Smart City  รวมถึงระบบขนส่งคมนาคมที่ทำให้ ฉะเชิงเทราอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ 20 นาที โดยผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

 

ระบุ 3 ปีราคาที่ดินปรับขึ้น 5 เท่า

จากกระแสดังกล่าว ทำให้ราคาที่ดินในตัวเมืองฉะเชิงเทราปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในข่วง 3 ปีที่ผ่านมาราคาที่ดินที่เกาะอยู่ตามถนนหลัก ฉะเชิงเทรา บางปะกง ราคาอยู่ที่ 4-6 ล้านบาทต่อไร่ แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที 12-25 ล้านบาทต่อไร่ “ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เมืองเติบโตไม่ได้”

ส่วนราคาที่ดินในตัวเมืองฉะเชิงเทราได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปี โดยล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ราคาที่ดินขยับขึ้นมาอยู่ที่ 30,000 บาทต่อตารางวา (ตร.ว.)

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบัน ฉะเชิงเทรากลายเป็นเมืองที่ดึงดูด ดีเวลอปเปอร์ขนาดใหญ่หลายแบรนด์เข้ามาเปิดโครงการเพิ่มขึ้น มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในปีนี้ 12 โครงการ รวม 2,500 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ารวมราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวราบ เพราะได้รับความนิยม จากลูกค้าในพื้นที่มากกว่า สำหรับผู้ซื้อเกือบ 100% เป็นเรียลดีมานด์ ที่ต้องการที่อยู่อาศัยหรือที่เปิดร้านทำธุรกิจ ส่วนพื้นที่ที่มีโครงการใหม่ๆ เปิดขายมากที่สุดจะอยู่ที่อำเภอเมือง รองลงมาได้แก่ อำเภอบางปะกง และอำเภอแปลงยาว

Cr. โครงการมารวยริเวอร์ไซด์


เสนอรัฐตัดถนนเพิ่มเปิดหน้าดินรับการพัฒนาโครงการใหม่

สิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองน่าอยู่ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ก็คือ การตัดถนนเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดหน้าดินสำหรับพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ และสร้างเส้นทางคมนาคม สัญจรภายในจังหวัดและเชื่อมต่อไปยังจังหวัดข้างเคียงมากขึ้น “ร่างผังเมืองเดิมมีการกำหนดแนวตัดถนนอยู่แล้ว 4-6 เลน แต่งบประมาณยังไม่มีลงมา ซึ่งเราอยากเห็นการตัดถนนเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนา”

Cr. โครงการมารวยริเวอร์ไซด์

นอกจากนี้ ยังต้องการให้เร่งเดินหน้าสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพราะภาคอุตสาหกรรมจะเป็นตัวนำภาคอสังหาฯ ให้เติบโต และจะดึงคนเข้ามาอาศัยและทำงานในจังหวัดฯ เพิ่มขึ้น เกิดการสร้างรายได้ให้กับจังหวัดฯ โดยภาครัฐอาจเริ่มพิจารณาการให้ผลประโยชน์ทางภาษีแก่องค์กรที่  เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยขั้นแรกทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทราจะเสนอผ่านบอร์ดอีอีซี หรือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในการริเริ่มโครงการนิคมอุตสาหกรรมกำจัดขยะ อิเล็กทรอนิกส์ และอีกประการคือการเร่งหาความชัดเจนของการจัดวางผังเมืองอีอีซี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการตัดสิน ใจของผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอุตสาหกรรม