ภายหลังจากที่มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในส่วนที่เหลือได้ทันมาตรการ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะมีการวางแผนการกู้สินเชื่อ ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 1-2 เดือนแล้ว จีงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
 

AP-ALLระบุLTVไม่กระทบการโอนลูกค้า

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)หรือ AP เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่มาตรการ LTV จะประกาศใช้นั้น บริษัทฯ ได้มีการประสานงานกับทางสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการ PRE-APPROVE ให้กับลูกค้าล่วงหน้าเป็นเวลา 1-2 เดือนก่อนโอนกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว ดังนั้นลูกค้า AP ส่วนใหญ่ที่มีแผนโอนในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาจึงไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์และยื่นกู้ไม่ทันก่อนมาตราการประกาศใช้

 

นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือ ALL กล่าวว่า โดยภาพรวมของตลาดจะมีผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่โครงการของบริษัทฯส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้ออยู่อาศัยจริง ดังนั้นมาตรการLTV จึงไม่ค่อยมีปัญหาและกระทบกับลูกค้าของบริษัทแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นเรียลดีมานด์ ราคาขายของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 1.8-3.4 ล้านบาท  นอกจากนี้บริษัทฯก็ได้มีการปรับเงินดาวน์ เพิ่มขึ้นอีก 5% ซึ่งเมื่อเทียบกับยอดดาวน์ต่อเดือนถือว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

NCH-LALINปรับแผนขายบ้านผ่อนดาวน์

นายสมนึก ตันฑเทอดดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด(มหาชน)หรือ NCH กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าได้มาก แต่ช่วงงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 40 ที่ผ่านมา สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าได้ทันเพียงบางส่วนไม่ถึง 50% บางส่วนก็ไม่สามารถโอนได้ โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม-ต้นเมษายนที่ผ่านมามียอดที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท จาก 10 โครงการ ซึ่งมีทั้งแนวสูง-แนวราบ ทุกระดับราคา ซึ่งลูกค้าทั้งหมดรับทราบเงื่อนไขอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะเข้าใจ  และในปีนี้บริษัทก็ได้ปรับแผนพัฒนาบ้านผ่อนดาวน์มากขึ้น หากผู้ซื้อบ้านแนวราบหลังแรกก็จะ ดาวน์ 5% หากซื้อหลังที่ 2 ก็จะดาวน์ 10%

 

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน)หรือ LALIN กล่าวว่า ลูกค้าที่โอนกรรมสิทธิ์ไม่ทันมาตรการ LTV นั้นมีจำนวนน้อยมาก คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 50-80 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นเพราะบริษัทฯได้มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา  และลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่จะซื้ออยู่จริง ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด ระดับราคา 2-6 ล้านบาท  ส่วนลูกค้าที่ซื้อบ้านในงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 40 นั้น ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทัน ซึ่งลูกค้าก็รับทราบและปรับตัว ด้วยการดาวน์ 5% เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังแรก ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับตัวหันมาพัฒนาบ้านสั่งสร้างมากขึ้น จากเดิมอยู่ที่สัดส่วน10-20% เป็น 20-30% ส่วนที่เหลือก็จะเป็นบ้านพร้อมขาย

 

ลูกค้ากานดาฯ ไม่ผ่านเกณฑ์พร้อมคืนเงินทุกบาท

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าว่า ในส่วนของโครงการของบริษัทฯนั้น มีบางส่วนที่โอนกรรมสิทธิ์ไม่ทันมาตรการ LTV  เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขและพิจารณาการปล่อยสินเชื่อแตกต่างกันไป โดยที่ผ่านมาลูกค้าบางรายต้องใช้วิธียื่นกู้สินเชื่อ 3-6 สถาบันการเงิน ทั้งๆ ที่เอกสารก็เหมือนกันทุกฉบับ บางรายก็ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ขณะที่บางรายก็ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งมีให้เห็นทุกระดับราคา ซึ่งในส่วนของกานดาฯ เอง หากลูกค้าไม่สามารถผ่านเกณฑ์จากสถาบันการเงินก็พร้อมที่จะเงินทำสัญญาทั้งหมดให้กับลูกค้า แต่อย่างไรก็ตามพบว่าหลังจากมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่า บางสถาบันการเงินเริ่มมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ลงบ้าง โดยปล่อยสินเชื่อในระดับ 95-100% แต่ทั้งนี้ต้องผ่านราคาประเมินด้วย