ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯเผยแนวโน้มธุรกิจปี63 เจอโจทย์หิน หากการเมืองกระทบร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้าส่งผลเอกชนขาดความเชื่อมั่นลงทุน ส่งผลGDPต่ำกว่า 2.5% คาดภาคการส่งออกติดลบ1% แบงก์พาณิชย์จะเผชิญ 4 โจทย์หินต่อการดำเนินธุรกิจ ระบุธปท.มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.00%  การจ้างงานลดอีก 30,000 ตำแหน่ง ภาคการเกษตรมีสิทธิ์ติดลบ 0.5% ด้านธุรกิจอสังหาฯยังเจอความท้าทาย ดีมานด์มีความต้องการ แต่ไม่มีกำลังซื้อ ซัพพลายยังมีสต๊อกรอระบายอีก 200,000 หน่วย คาดใช้เวลา 2 ปี
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยในงานเสวนาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภายใต้หัวข้อ “แนวโน้มธุรกิจ ท่ามกลางโจทย์หิน ปี 2563” ว่า การชะลอตัวของการส่งออก จากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน , เงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำกว่าประเมิน และยังมีปัจจัยความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงจากเดิมที่ 2.8% มาที่ 2.5% เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ในไตรมาส 3/2562 ออกมาต่ำกว่าคาดเติบโตเพียง 2.4%  อีกทั้งเมื่อรวม 3 GDP จาก 3 ไตรมาสแล้ว พบว่ายังต่ำกว่าประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย และมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2562 จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 เล็กน้อยที่ 2.6% โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยประคองการบริโภค และมีเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐออกช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง

 

สำหรับในปี 2563 คาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวที่ 2.7% โดยมีกรอบประมาณการ 2.5%-3% ซึ่งหวังแรงหนุนจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน บนเงื่อนไขสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่หากมีกรณีที่สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีผลลบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชน ก็อาจทำให้ GDP ปีหน้าเดินหน้าเข้าหากรอบล่างของประมาณการที่ 2.5% หรือต่ำกว่านั้น

ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ -1% เพราะตลาดส่งออกหลักยังมีทิศทางชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะยังสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1/2563  ที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่า และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ และมีโอกาสที่ค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้มีโอกาสหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และปีหน้ามองค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563  คาดว่าจะเผชิญ 4 โจทย์หินต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งสินเชื่อที่มีข้อจำกัดของการเติบโตตามเศรษฐกิจโดยมองอัตราการเติบโของสินเชื่อเท่าปีก่อนที่ 3.5% สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปี 2562 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ค่าธรรมเนียมที่คงขยายตัวในระดับไม่เกิน 1-2% และมีโอกาสได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายของทางการ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงหรือการส่งสัญญาณของทางการที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกค้า อันจะกระทบรูปแบบการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก จนมีผลกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)

ขณะเดียวกันมองว่ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสปรับลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.00% ในช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนมีนาคม 2562 หลังจากที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 ออกมาแล้ว ซึ่งหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่เป็นไปตามที่ธปท.คาด ทำให้มองว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระของผู้ประกอบการและประชาชน และมองไปถึงเครื่องมืออื่นๆที่ธปท.จะนำมาใช้เสริมในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2563

“จากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ในปี 2563 มองนโยบายการคลัง-การเงินจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ควรเร่งกระบวนการให้ผ่านการพิจารณาของสภาภายในไตรมาส1/2563 ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เปราะบางที่สุด คือ ภาคการเกษตร ธุรกิจเอสเอ็มอี และอัตราการว่างงาน ที่จะสามารถลิงค์ประในเรื่องของการใช้จ่ายในครัวเรือนที่อาจจะมีผลกระทบต่อภาครัฐเศรษฐกิจได้” น.ส.ณัฐพร กล่าว

ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจในปี 2563 ต้องประสบกับโจทย์ยาก 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยรายปีแข็งค่ากว่าในปี2562 โดยค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่า 7.7% ซึ่งปี 2563 คาดแข็งค่าเพิ่มอีก 3.8% จะกระทบให้รายได้ของธุรกิจส่งออกลดลงทันที 3.8% โดยไม่ได้ทำอะไร โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินค้าเกษตร รถยนต์ และท่องเที่ยว เป็นต้น  และจะส่งผลตามมาให้ภาคการผลิตลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงาน โดยปัจจุบันการจ้างงานลดลงกว่า 70,000 ตำแหน่ง คาดทั้งปีลดลงประมาณ 100,000 ตำแหน่ง และประมาณว่าการจ้างงานในภาคการผลิตในปี 2563 จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกกว่า 30,000 ตำแหน่ง

2.สถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะกระทบกับภาคเกษตรและซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง  โดยปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ล่าสุดอยู่ในระดับที่น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนในทุกภาค ดังนั้นภัยแล้ง 2563 อาจจะรุนแรงกว่า 2562 จะกระทบปริมาณผลผลิต มีผลให้ GDP ภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัว มีโอกาสติดลบ 0.5% จากปีนี้ที่รายได้เกษตรขยายตัว 2.2% ส่วนจะเข้าใกล้ภาวะแล้งเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่เกิดในปี 2558-2559 นั้นหรือไม่ คงเป็นประเด็นติดตามซึ่งไม่เกิน 3-4 เดือนแรกของปี 2563 ก็คงมีความชัดเจนขึ้นแล้วว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเข้ามาซ้ำเติมหรือไม่

 

3.ค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2563 เฉลี่ยประมาณ 5 บาทจากเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6% จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3% โดยผลกระทบแต่ธุรกิจจะแตกต่างกัน ซึ่งเฉลี่ยต้นทุนแรงงานของธุรกิจอยู่ที่ 17% โดยธุรกิจที่ต้นทุนแรงงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยจะได้รับผลกระทบ อาทิ  ร้านอาหาร ค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง ซึ่งอาจจะกระทบต่อราคาที่อยู่อาศัย และสินค้าโภคภัณฑ์

 

สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดนั้น แม้ว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 2563 จะจำกัด แต่ก็จะเพิ่มโจทย์ยากให้กับธุรกิจ โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5 บาทจากเดิม จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3% ขณะที่ธุรกิจเกษตรจะเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้งค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และค่าแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้

ด้านธุรกิจที่ยังดำเนินไปได้ดี คือ ท่องเที่ยว ที่แม้จะเห็นอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอลงมาที่ 2-3% จากที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวราว 4% ในปี 2562 แต่ก็ยังมีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้ ทั้งนักท่องเที่ยวจีน อาเซียน และอินเดีย รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐสามารถส่งเสริมหรือออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้ เพราะมีสัดส่วนต่อ GDP รวมถึง 18%  นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ยังไปได้ดีเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ก็ยังมีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัว

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 คาดว่าจะเจอโจทย์ที่ท้าทายเช่นกัน และยังไม่ฟื้นตัว เพราะประชาชนแม้จะมีความต้องการซื้อ แต่อาจไม่มีความสามารถในการซื้อได้ทุกคน ขณะเดียวกันปัญหาที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังมีอยู่ในปริมาณสูงอีกประมาณ 200,000 หน่วยนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะสามารถเคลียร์ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายสต๊อกถึง 2 ปี ซึ่งยาวนานกว่าในอดีตที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 1.5 ปี  ส่วนผู้ประกอบการก็มีความระมัดระวังในการเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะสภาวะตลาดยังไม่เอื้ออำนวย ด้านราคาขายก็ยังไม่ถึงกับปรับลง แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และผู้ประกอบการจะมีการแข่งขันในการทำตลาดด้วยการจัดแคมเปญที่มากขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*