คณะกรรมการ PPP  เห็นชอบกฎหมายลำดับรอง ภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รองรับการเสนอโครงการอย่างครบถ้วนพร้อมเร่งรัดโครงการในกลุ่ม High Priority ตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 472,050 ล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2563 ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้

  1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 (สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการเสนอโครงการครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
  2. คณะกรรมการ PPP ได้เร่งรัดความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 ของโครงการร่วมลงทุนที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 472,050 ล้านบาท* เพื่อให้โครงการดังกล่าวมีความพร้อมในการเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ PPP ได้ตามแผนงาน รวมทั้งคณะกรรมการ PPP ได้เน้นการส่งเสริมการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการที่ตอบสนองกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านธุรกิจบริการ ด้านโลจิสติกส์ และด้านดิจิทัล เป็นต้น
  3. คณะกรรมการ PPP ยังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือในกรณีปัญหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

*หมายเหตุ : ความคืบหน้าโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 เทียบกับข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานในช่วงกรกฎาคมปี 2562 ประเมิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 พบว่าจำนวนโครงการ 72 % มีความล่าช้าจากแผน และหากคิดจากมูลค่าโครงการ  95%  มีความล่าช้าจากแผน โดยคณะกรรมการ PPP ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ติดตาม เร่งรัด และสนับสนุนในกระบวนการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้โครงการข้างต้นสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ตามแผนต่อไป

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*