ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ( REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้จัดสัมมนา “ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันตกและภาคใต้ ปี 2563 ไปต่ออย่างไรเมื่อไร้แรงซื้อต่างชาติ” โดยเชิญวิทยากรที่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯในพื้นที่ร่วมกันวิเคราะห์ ดังนี้ นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการอสังหาฯจาก กรุงเทพฯที่ได้เข้าไปลงทุนในภูเก็ตเมื่อ 6-7 ปีก่อน ,นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการบริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด, นายศุภชัย รุจิเรืองโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ปุณณกัณฑ์ วัลเลย์ จำกัด และนายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ดำเนินรายการโดยมีนายธีรวัฒน์ พิพัฒน์ดิฐกุล อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

ทั้งนี้วิทยากรที่ร่วมงานสัมมนาดังกล่าวเห็นพ้องกันว่า ปัจจุบันภาพโดยรวมภาคที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัวทั้งการตัดสินใจซื้อและการลงทุน ขณะที่ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมกับเตรียมเเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรที่ภูเก็ตในสัปดาห์นี้ ถึงแนวทางการฟื้นธุรกิจ การท่องเที่ยวและการลงทุน

 

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวให้ความเห็นว่าภูเก็ตเป็นเมืองหลวงการท่องเที่ยวโลกและเป็นไขมุกอันดามัน  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ควรจะนำเรื่องความร่วมมือที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ร่วมกับกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ด้วยการเปิดตัวโครงการเที่ยวเมืองไทยกับชาวจีน ด้วยการวางเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนเบื้องต้น 7 ล้านคนที่แสดงความสนใจ(จองผ่านออนไลน์)เข้ามาเที่ยวไทย กำหนดค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาทต่อคน (คาดเป็นเงิน 350,000 ล้านบาท) ก็จะช่วยให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะฟื้นแคมเปญที่เคยทำในปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 11 เดือน 11 ททท.ได้ทำแคมเปญ วันช็อปปิ้งกับอาลีบาบา ขายนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทย ซึ่งประสบความสำเร็จ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าทำ

​ขณะที่นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมและอสังหาฯรายใหญ่ของภูเก็ต กล่าวว่า การที่จะมีครม.สัญจรในสัปดาห์นี้ หากเกิดความชัดเจนในเรื่องการลงทุนในโครงการต่างๆถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะเสนอที่ประชุมครม.ดังนี้

  • โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ โครงการสร้างอุโมงค์ป่าตอง การสร้างานามบินแห่งใหม่ หรือแม้แต่โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (รูปแบบPPP) หากรัฐมองเห็นความสำคัญ ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี
  • ความชัดเจนในการเดินหน้าผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล หรือ “มารีน่าฮับ” (Marina Hub) เป็นศูนย์กลางการเทียบท่าเรือสำราญและเรือยอชท์ของภูมิภาคอาเซียน โครงการนี้ส่วนตัวเชื่องว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินเพิ่มเป็นเท่าตัวคือไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
  • เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจะเสนอขยายวีซ่าให้ชาวต่างชาติมาอยู่ได้นานขึ้น
  • ขับเคลื่อนให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา หรือเมดิคัล ฮับ (Medical Hub)
  • ผลักดันให้เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา
  • สนับสนุนหรือผลักดันภาคอุตสาหกรรมทูน่า หรือโรงงานแปรรูปปลา เพื่อเปิดตลาดอาหารทะเลฟื้นเศรษฐกิจ
นายบุญ ยงสกุล ประธานกรรมการ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด

นายบุญกล่าว กล่าวด้วยว่า เมื่อ 2ปีที่ผ่านมา มีกรณีเรื่องเรือนำนักท่องเที่ยวชาวจีนคว่ำ เกิดเรื่องเทรดวอร์ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวภูเก็ตลดลง “รายได้ 90-95 % มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 เปรียบเป็นสึนามิของภูเก็ต ธุรกิจต่างๆประสบปัญหา เราภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตพร้อมจะสนับสนุนนโยบายต่างๆของรัฐบาล”

พร้อมกันนี้ นายบุญ ยังได้กล่าวถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวนั้นได้รับผลกระทบมาตรการ LTV และจากการระบาดโควิด-19 เห็นภาพชัด ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปถึงปี 2564  ถึงแม้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนั้นจะยังมีอยู่ แต่กำลังซื้อมีไม่เพียงพอที่จะซื้อ เพราะรายได้หดหาย ปัญหาเหล่านี้กระทบต่อการขายบ้าน เห็นได้จากโครงการที่พัฒนาอยู่ เช่น ทาวน์เฮ้าส์ ที่ต้องทำตลาด 2 รอบก็ว่าหนักแล้วพอมาเจอโควิด-19 รอบขายเพิ่มเป็น 4 ครั้งเป็นค่าเฉลี่ยใหม่ คือหมายถึง ทาวน์เฮ้าส์ 1 หลังต้องขายให้กับลูกค้าถึง 4 คน

ที่อยู่อาศัยเหลือขายภาคใต้กว่า 8.76 หมื่นล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวประมาณการทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ว่าจำนวนหน่วยเหลือขายและหน่วยขายได้ใหม่ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตา โดยคาดว่า ณ ครึ่งหลังปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยรอการขายจำนวน 17,688 ยูนิต หน่วย มีมูลค่าหน่วยเหลือขายจำนวน 84,285 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 18,118 หน่วย มีมูลค่าหน่วยเหลือขายประมาณ 87,616 ล้านบาทในครึ่งแรกปี 2564

​ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์

​ส่วนอัตราดูดซับต่อเดือนของบ้านจัดสรร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 % ในครึ่งหลังปี 2563 และเพิ่มเป็น 2.1% ในครึ่งแรกปี 2564 ส่วนอัตราดูดซับต่อเดือนของอาคารชุดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.5 % ในครึ่งหลังปี 2563 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.6 %ในครึ่งแรกปี 2564

​สำหรับการเคลื่อนไหวด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดจะเปิดโครงการใหม่ประมาณ 1,981 ยูนิตในครึ่งหลังปีนี้และเปิดใหม่อีก 2,219 ยูนิตในครึ่งแรกปี 2564 ในขณะที่จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ครึ่งหลังปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 9,164 ยูนิต มูลค่า 17,281 ล้านบาท และหน่วยโอนกรรมสิทธิ์จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 12,749 ยูนิตมูลค่า 19,762 ล้านบาท ในครึ่งแรกปี 2564 ซึ่งประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้ตัวแปรที่ยังไม่มีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

อนึ่ง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในภาคใต้ ในช่วงครึ่งแรก ปี 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุด ที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า  6 ยูนิต โดยในช่วงที่ทำการสำรวจ พบว่ามีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขาย ณ ครึ่งแรก ปี 2563 (Total Supply) ทั้งหมด 359 โครงการ จำนวน 17,087 ยูนิต มูลค่ารวม  75,375 ล้านบาท จำแนกเป็นโครงการบ้านจัดสรร 275 โครงการ 11,156 ยูนิต มูลค่า 46,283 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด  84  โครงการ  5,931 ยูนิต มูลค่า  29,092 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหน่วยเหลือขายจำนวน  15,729 ยูนิต และในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 1,358 ยูนิต

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*