ครม.ปลื้ม มาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมฯ 1 ปี เข้าถึงกรรมสิทธิ์ผู้อยู่อาศัย จำนวน 111,635 ราย สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 91.35 ของเป้าหมายรวม 12 เดือน จำนวน 58,340 ราย ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย-กระตุ้นภาคอสังหาฯและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
วันนี้ (5 มกราคม 2564) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านระบบ Video Conference  ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ 28 เรื่อง และมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในหัวข้อที่ 14 เรื่อง รายงานผลดำเนินงานตามมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเมื่อสิ้นสุดโครงการ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562-23 มิถุนายน 2563 ระยะเวลารวม 1 ปี
โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรณีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เมื่อสิ้นสุดโครงการ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562-วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ระยะเวลารวม 1 ปี มีผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ  สามารถช่วยลดภาระและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก และมีความสามารถในการผ่อนชำระได้สามารถตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น และได้เข้าถึงในกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จำนวน 111,635 ราย สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 91.35 ของเป้าหมายรวม 12 เดือน จำนวน 58,340 ราย
แม้ผลกระทบต่อรายได้การเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐ โดยกรมที่ดินป็นผู้จัดเก็บให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลง เมื่อสิ้นสุดโครงการ ระยะเวลารวม 1 ปี จำนวน 1,512.367 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 11.04 จากการคาดการณ์ที่รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวน 1,700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวนี้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมเพิ่มขึ้น มีเงินหมุนเวียนไปยังห่วงโซ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ทั้งทางด้านการจ้างงานและการบริโภค ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นซึ่งจะทำให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีอื่น ๆ ที่รัฐจัดเก็บและจัดสรรให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ผลรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นจะสามารถสร้างเป็นรายได้กลับคืนมาเพื่อมาชดเชยกับรายได้งบประมาณที่สูญเสียไปจากการดำเนินมาตรการฯ ดังกล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*