การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกดดันทั้งทางด้านการเงินและสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงานและโรงแรม  ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคที่มีต่ออุปสงค์และอุปทานในตลาดปรับตัวลดลง

โดยแฉพาะตลาดอาคารสำนักงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานและการบริการ ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้เช่าอาคารสำนักงานปรับตัวลดลง รวมถึงอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ในปี 2563 ที่ผ่านมา อัตราการเช่าพื้นที่สุทธิอาคารสำนักงานติดลบ เพราะอัตราการย้ายออกสูงกว่าอัตราย้ายเข้า เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มีการชะลอแผนขยายพื้นที่การทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและป้องกันกระแสเงินสด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่มีอัตราการว่างงานสูง

จากข้อมูลสำรวจของแผนกวิจัยซีบีอาร์อี ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่า ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯยังต้องเผชิญกับภาวะซัพพลายที่กลับเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากการลดปริมาณการใช้พื้นที่ของผู้เช่าลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงหลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานบางส่วนทำงานจากที่บ้านแบบ Work from Home

ส่งผลให้ปริมาณพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 25,000 ตารางเมตร ขึ้นมาอยู่นระดับ 9.26 ล้านตารางเมตร โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เช่าของอาคารดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ย่านบางนา – ตราด  ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ทำงานของเจ้าของอาคารเองด้วย ซึ่งทำให้ซัพพลายในย่านนี้เพิ่ม 13% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการใช้พื้นที่สำนักงานโดยรวมอยู่ที่ 80.4%

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความต้องการใหม่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่มีการขยายตัว   แต่ตัวเลขโดยรวมในไตรมาส1ที่ผ่านมาติดลบถึง 23,521 ตารางเมตร ซึ่งเป็นผลมาจากผู้เช่าบางรายในอาคารสำนักงานเกรดบีย่านใจกลางธุรกิจย้ายสำนักงานออกไปอยู่ทำเลนอกใจกลางย่านธุรกิจ ที่มีค่าเช่าต่ำกว่าและลดขนาดพื้นที่ไปในตัว

 ขณะที่ตลาดอาคารสำนักงานเกรดเอในพื้นที่นอกใจกลางย่านธุรกิจถือเป็นตลาดเดียวที่มีการใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 แต่อัตราการใช้พื้นที่โดยเฉลี่ยทั้งตลาดลดลง 0.5% มาอยู่ที่ 90.1% จาก 90.6% ในไตรมาสก่อนหน้า

นักท่องเที่ยวต่างชาติลดฮวบ โรงแรมกระทบหนัก
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในไตรมาสแรกของปีของปีนี้มีจำนวนแค่ 20,172 คน ลดลงต่ำกว่าไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 6.7 ล้านคน เนื่องจากปี 2563 ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19

ดังนั้นปีนี้จึงถือเป็นอีกปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับตลาดโรงแรมทั่วประเทศ   โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 3 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเมืองไทยประมาณ 5.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ในช่วงเดือนเมษายนนั้น ยังคงส่งผลให้ผลประกอบการของโรงแรมในกรุงเทพฯ ช่วงไตรมาสที่ 2 อยู่ในระดับต่ำ ทำให้โรงแรมใหม่หลายแห่งชะลอแผนการเปิดตัวโรงแรมใหม่ออกไป โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีโรงแรมใหม่ 1 แห่งที่เปิดให้บริการจำนวน 141 ห้อง ทำให้จำนวนห้องพักของโรงแรมโดยรวมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็น 51,239 ห้อง

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*