ลุมพินี วิสดอมฯเผยผลประกอบการ 37 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโชว์ รายได้กำไร 9 เดือนแรกเติบโต 10.80% และ 28.02% ตามลำดับ “เอพีฯ” รายได้มาแรงสุด 29,842.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%  ในขณะที่ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” กำไรยังขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ที่ 6,322.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.50% คาดปี 66 ผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะธปท.ไม่ต่อมาตรการ LTV กระทบผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2-3 แน่ 
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นจำกัด  บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอลพีเอ็นดีเวลลอปเมนท์จำกัด(มหาชนหรือ LPN เปิดเผยว่าได้รวบรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2565 ของ 37 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)พบว่ารายได้รวมและกำไรเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้รวม 230,852.39 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 29,853. 03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.80% และ 28.02% จากระยะเดียวกันปี 2564 ตามลำดับ ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.93%: เพิ่มขึ้นจาก 12.63% ในช่วงครึ่งแรกของปี2565 และเพิ่มขึ้นจาก 11.41% จากระยะเดียวกันของปี  2564

ในขณะที่ สินค้าคงเหลือ บวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 37 บริษัทอยู่ที่ 583,266.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% เทียบกับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยที่ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) หรือ SIRI มีมูลค่าสินค้าคงเหลือและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างสูงสุดที่85,055.54 ล้านบาท ตามมาด้วย บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน)หรือ SPALI ที่ 65,192.84 ล้านบาท และ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ PSH ที่ 53,204.81 ล้านบาท

ส่วนบริษัทอสังหาฯ ที่มีรายได้สูงสุดคือ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) หรือ AP มีรายได้รวม 29,842.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 ขณะที่บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ LH มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 6,322.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น28.50% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564

จากการรวบรวมของ “ลุมพินี วิสดอมฯ” พบว่า รายได้รวมของ 10 อันดับแรกของบริษัทอสังหาฯ ที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้รวม 178,264.48 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.22% ของรายได้รวมของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 37 บริษัท ในขณะที่กำไรสุทธิของ 10 บริษัทอสังหาฯ ที่มีกำไรสุทธิสูงสุดมีกำไรสุทธิรวม 30,347.94 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิรวมของ 37 บริษัท(เนื่องจากใน 37 บริษัทมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 26 บริษัท และ  11 บริษัทผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ ทำให้เมื่อนำกำไร-ขาดทุนของทั้ง 37 บริษัทมารวมกันจึงมีกำไรสุทธิรวมต่ำกว่ากำไรสุทธิของ 10 บริษัทที่มีกำไรสูงสุด)

ด้านผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2565 ของ 36 บริษัทอสังหาฯ (ยกเว้น บริษัท เฟรเซอร์พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เนื่องจากงบปีของ FPT เริ่มในตุลาคม2564-กันยายน 2565)  มีรายได้รวม 81,370.77 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 11,366. 08 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 29.23% และ 52.02% จากระยะเดียวกันของปี 2564 ตามลำดับความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ย 13.96%: เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการทำกำไรที่  11.87% ในไตรมาส 3 ปี 2564

จากผลการดำเนินในไตรมาส 3/2565 พบว่า บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) มีรายได้และกำไรสูงสุด โดยบริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) มีรายได้ 11,362.06 ล้านบาทละมีกำไรสุทธิ 2,792.07 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 51.06% และ 61.27% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปี2564

“ผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3/2565 และงวด 9 เดือนปี 2565 เติบโตเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำหนดอัตราการปล่อยสินเชื่อต่อราคาที่อยู่อาศัย(Loan to Value: LTV) ทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เป็นช่วงที่ตลาดอสังหาฯชะลอตัว ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ได้รับอานิสงส์จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่อนคลายมาตรการ LTV ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีอัตราการเติบโตประมาณ 3% สามารถกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาฯ ขณะเดียวกันการที่ราคาบ้านมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2566 ประกอบกับธปท.ประกาศไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV ทำให้กระตุ้นกำลังซื้อสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ให้เร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในไตรมาส3 และไตรมาส 4 ของปี 2565 โดยตลาดที่อยู่อาศัยที่ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทยังคงมีกำลังซื้อสูง” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2566 ตลาดอสังหาฯ จะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยอาทิ การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่ 5-8% ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมถึงต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นประมาณ 5-6% ผนวกกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และราคาที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาประเมินที่ดินใหม่ที่กรมธนารักษ์ จะประกาศใช้และมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ปรับขึ้นประมาณ 8-10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเล ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น5-10% ขึ้นอยู่กับทำเล ในส่วนของโครงการที่เปิดตัวใหม่ แต่อย่างไรก็ตามจะยังไม่กระทบกับที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จพร้อมขาย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นต้นทุนเดิมของผู้ประกอบการ

ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV จะกระทบกับกำลังซื้อสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทที่ซื้อเป็นสัญญาเงินกู้หลังที่ 2 และที่อยู่อาศัยที่มีราคาเกิน 10 ล้านบาทที่เป็นสัญญากู้หลังแรก ที่จะต้องวางเงินดาวน์ตามสัดส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 10-20% ทำให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องมีเงินก้อนสำหรับผ่อนดาวน์ จากเดิมที่สามารถกู้ได้ 100% ไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ การยกเลิกการต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV จะทำให้กำลังซื้อสำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่ 3 ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งจะกระทบกับตลาดที่เป็นกลุ่มนักลงทุน แต่จะไม่กระทบกับกลุ่มที่ซื้อบ้านหลังแรกทีระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของตลาดรวม ยังสามารถกู้ได้ 100%

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*