นายกอสังหาฯเผยยุคโซเชียลมาแรง ดีมานด์เข้าถึงข้อมูลการซื้อที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น แต่กลุ่มระดับ 3 ล้านบาทยังมียอด Reject สูง แนะรัฐบาลขยายเพดานราคาบ้าน จาก 1.2 ล้านบาทเป็น 1.7 ล้านบาท  และช่วยเหลือเรื่องแรงงานก่อสร้างยังเป็นปัญหาหลักที่สร้างความกังวล คาดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 43 คึกคักแน่ มีผู้เข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 100,000 คนและมียอดขายรวมทั้งหมด 15,000 ล้านบาท
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์ประกอบอสังหาฯทั้งผู้ประกอบการแลทำให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ง่ายขึ้น ต่างจากในอดีตที่ประสบปัญหา “ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน” โดยด้านสินเชื่อในปัจจุบันสถานบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นแต่ก็ยอมรับว่าหากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีรายได้ที่แน่นอน ประวัติการเงินดี และมีการเตรียมตัวที่ดี ก็สามารถกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้แน่นอน แม้ว่าที่ผ่านมาอสังหาฯจะมีการชะลอตัว ซึ่งภาครัฐก็จะเข้ามาช่วยเหลือในมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง

“คิดว่าสภาพคล่องของสถาบันการเงินยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้มาก และผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินคาได้น่าซื้อมากที่สุด หากเปรียบเทียบความน่าซื้อกับราคา พบว่าราคาสินค้าไม่ได้แพงมากนัก โดยเฉพาะบ้านแฝดในปัจจุบันยังมีความน่าซื้อกว่าบ้านเดี่ยวจากในอดีต จึงถือว่าเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อยุคนี้”นายมีศักดิ์ กล่าว

สำหรับกลุ่มลูกค้าระดับ 3 ล้านบาทมองว่าเรื่องการขอสินเชื่อยังเป็นประเด็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มระดับราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีในเรื่องคุณภาพของบ้าน ทั้งนี้หากรัฐบาลขยับเงื่อนไขขยายเพดานราคาบ้านเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.7 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้มากขึ้น เชื่อว่าสินเชื่อในส่วนนี้ยังมีอีกมาก เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ ก็คงต้องฝากรัฐบาลชุดใหม่ด้วย หรือหากรัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถแก้ไขได้รวดเร็วก็จะยิ่งดี

ด้านความกังวลในปีนี้คงเป็นในเรื่องแรงงานที่ยังขาดแคลน และในอนาคตคงหนีไม่พ้นพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ ซึ่งคงต้องมีการทบทวนกันใหม่ หากรัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ก็จะต้องมีการสนับสนุนภาคอสังหาฯอย่างชัดเจน

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด”ครั้งที่ 43 นี้ ผู้ประกอบการจะพร้อมใจกันนำโครงการมาขายมากขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อเองก็จะได้รับเงื่อนไขที่ดีมากขึ้นเช่นกัน

นายวสันต์ เคียงศิริ
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสามารถหาข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว ได้มากและครบถ้วนกว่าในอดีต เพราะสามารถดูผ่านระบบออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง รวมไปถึงข้อมูลจาก Influencer ที่มีครบถ้วนมากขึ้น ในด้านสินเชื่อ ก็พบว่าสัดส่วน 85% จะขอสินเชื่อ จึงทำให้มีทางเลือกมากขึ้น

สำหรับกลุ่มผู้บริโภคปัจจุบันมีประมาณ 3 กลุ่ม หลักคือ กลุ่มผู้ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการขอสินเชื่อ และถูก Reject มากที่สุด เพราะมีความไม่แน่นอนมากที่สุด กลุ่มระดับราคา3-5 ล้านบาท แม้จะมีความกังวล เพราะยังมีภาระทางครอบครัว ซึ่งจะสนใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นลำดับแรก กลุ่ม 5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีความกังวลเรื่องคุณภาพงานก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งทุกกลุ่มจะสามารถหาคำตอบได้ในงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด”ครั้งที่ 43

สำหรับความกังวลในปีนี้ คงเป็นเรื่องต้นทุนในการดึงลูกค้า ดังนั้นการพัฒนาโครงการจึงต้องมีเอกลักษณ์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค อีกเรื่องคือ ระเบียบข้อบังคับต่างๆในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ภาครัฐออกมามากมาย ทั้งในเรื่องของผังเมืองและข้อกำหนดจัดสรรของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นใจและช่วยส่งเสริมมากขึ้น

ส่วนบรรยากาศงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด”ครั้งที่ 43 เชื่อว่าจะคึกคักมากขึ้น ทุกคนคลายความกังวลเรื่องโควิด-19 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ดีขึ้นในรอบ 36 เดือน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญให้ผู้บริโภคกล้ากู้สินเชื่อในระยะยาวมากขึ้น และดีมานด์ก็จะเริ่มกลับมา ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการซื้อขายอสังหาฯคึกคักมากขึ้น

นายพีระพงศ์ จรูญเอก
นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่ควรซื้อที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะประสบปัญหาค่าเงินเฟ้อ แต่ผู้ประกอบการต่างก็จัดโปรโมชั่นกันมากเพื่อดึงกำลังซื้อ ซึ่งหากผู้บริโภคมีความสามารถในการซื้อ ก็มองว่าในงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด”ครั้งที่ 43 ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเลือกซื้อสินค้าราคาที่ไม่แพงมาก

“แม้อัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสูง และไม่มีมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(Loan to Value : LTV) แต่บรรยากาศในงานจะน่าซื้อมากขึ้น ซึ่งมองว่าในเดือนตุลาคม ไปถึงปีหน้าที่อยู่อาศัยจะแพงขึ้นแน่นอน ถ้า Real Sector กลับมา”นายพีระพงศ์ กล่าว

นายพีระพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคา 3 ล้านบาทจะมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มคนที่จบใหม่ และกลุ่มที่เช่าที่อยู่อาศัย แต่ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาด้านบัตรเครดิต ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและฟื้นตัวแรงมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่จบใหม่จะสามารถหาซื้อคอนโดฯในงานได้เป็นจำนวนมาก เพราะจะมีคอนโดฯเปิดตัวใหม่ในงานจากผู้ประกอบการหลายบริษัทเชื่อว่าในปีนี้ตลาดคอนโดฯในปีนี้จะโตขึ้นในระดับบวก 30% ขณะที่ธุรกิจบ้านจัดสรรนั้นน่าจะประคองตัวไปได้

ส่วนที่อยู่อาศัยระดับราคา 5-10 ล้านบาทยังมีอัตราการเติบโตอีกมาก ขณะที่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ระดับราคา 4-6 ล้านบาทยังมีอัตราการเติบโตสูง ส่วนบ้านหรู ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปยังทรงตัว เพราะผู้ประกอบการหันไปพัฒนาบ้านอัลตร้า ลักชัวรี่ ระดับราคา 50-100 ล้านบาทมากขึ้น ซึ่งจะมาชดเชยกลุ่มระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปที่กำลังจะหายไปจากตลาด ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดรวมยังพอไปได้

สำหรับความกังวลในปีนี้ คงมีในเรื่องปัญหาแรงงานที่ค่อนข้างหายาก และขาดแคลนเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายรายคงต้องบวกเวลาในการก่อสร้างเผื่อไว้ด้วย เพราะแรงงานบางส่วนได้ย้ายไปยังธุรกิจอื่นแทน ขณะที่ความยุ่งยากในการใช้วัสดุ ก็คงต้องเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทนอย่างอื่นที่ไม่ยุ่งยากแทน ส่วนเรื่องเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เชื่อว่าประเทศไทยยังไม่เจอปัญหามากนัก คงต้องจับตาดูในครึ่งปีหลัง 2566

ด้านงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด”ครั้งที่ 43 เชื่อว่าน่าจะคึกคักและสนุกสนานมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายกลับมาจองบูธมากขึ้น โดยการจัดงานครั้งที่ผ่านมาเป็นผู้ประกอบการบ้านจัดสรร มากถึง 80% แต่การจัดงานครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการคอนโดฯมากขึ้นถึง 40-50% ซึ่งมีทั้งนำสต๊อกเก่ามาขายและเปิดตัวโครงการใหม่ในงาน

นพ.วิเชียร แพทยานันท์
ด้าน นพ.วิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด(มหาชน) หรือ CMC ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่43 กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นโดย 3 สมาคม คือ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 มีนาคม 2566 นี้ ณ ฮอลล์5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อต้องการจะยกระดับความสำคัญของงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ จากนี้ไป ให้เป็นเวทีที่มีส่วนช่วยให้คนไทยสามารถเป็น “เจ้าของบ้าน”ได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบัน มีปัจจัยมากมายที่ทำให้หลายคนกลัวที่จะซื้อบ้าน คนขายก็ขายไม่สะดวกกลไกของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เลยทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการเอกชน ผนึกกำลังเข้าด้วยกันจึงจะคลี่คลายสถานการณ์ได้

“ทั้ง 3 สมาคมฯ พยายามเพิ่มบทบาทของงานมหกรรมฯ ให้เป็น Financial Advisory หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ด้านสินเชื่อ โดยจะเป็นเวทีกลางที่ดึงทั้งสมาชิกผู้ประกอบการ,สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ และผู้บริโภค ได้มาพบกัน โดยที่ผู้ซื้อจะได้เลือกซื้อบ้านที่ถูกใจจากโครงการนับพัน ที่ผู้ประกอบการได้นำมาเสนอ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษที่มีเฉพาะในงานฯ และเมื่อได้บ้านที่ต้องการ ก็สามารถไปขอคำปรึกษาหรือยื่นขอสินเชื่อกับสถานบันการเงิน ซึ่งในงานครั้งนี้ ได้รับการตอบรับแล้วจากธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบีคนอยากมีบ้านก็จะได้มีความหวังอีกครั้งกับการเดินหน้าขอสินเชื่ออย่างถูกวิธี และมีโอกาสที่จะยื่นกู้ผ่าน ขณะที่ธนาคารก็สามารถคัดกรองลูกค้าคุณภาพ ประเมินความสามารถผ่อนชำระของผู้กู้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดอัตราการเกิด NPL ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้ขายสินค้าที่มีอยู่ออก เรียกว่าวินๆ ทุกฝ่าย แก้สถานการณ์ ‘ซื้อไม่ง่าย ขายไม่คล่อง’ ในช่วงนี้ ทำให้กลไกด้านการตลาดอสังหาฯ หมุนต่อไป ถึงแม้จะเป็นความพยายามเล็กๆ แต่ถ้าทำได้ ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของเม็ดเงินไม่น้อย” นพ.วิเชียร กล่าว

นายธีรวัฒน์ พิพัฒน์ดิฐกุล

ด้านนายธีรวัฒน์ พิพัฒน์ดิฐกุล ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ งาน “มหกรรมบ้านและคอนโด” ครั้งที่ 43 กล่าวว่า จากผลสำรวจในงานครั้งผ่านมาๆ พบว่าลูกค้าที่มาเดินงานเป็นกลุ่มครอบครัว Gen Y มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอุปกรณ์ไอทีติดตัว ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากที่สุด เพราะง่าย สะดวก และรวดเร็ว ฝ่ายประชาสัมพันธ์จึงเลือกใช้คอนเซ็ปต์งานครั้งนี้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย Gen Y ได้แก่ “Up Life by Live” หรือ “อัพชีวิตให้สบาย เลือกง่ายกว่าที่เคย” ซึ่งสื่อถึงการเป็นงานที่รวมจุดเด่นที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ Gen Y ได้อย่างลงตัวที่สุด ซึ่งรวมถึงศูนย์ช่วยเหลือที่มีเจ้าหน้าที่และระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากความต้องการและแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อมาเป็นตัวเลือกและให้คำแนะนำในการตัดสินใจของผู้เข้าร่วมชมงาน ภายในงานจะมีบูธจากผู้ประกอบการมากกว่า 200 บริษัท รวมโครงการอสังหาฯมากกว่า 1,000 รายการ ครอบคลุมทุกรูปแบบ ทุกราคา ทุกทำเล ปัจจุบันมียอดจองแล้ว 98% และมียอดลงทะเบียนเพื่อเข้าชมล่วงหน้าแล้ว 3,500 ราย(ข้อมูลถึง ณ วันที่ 13 มีนาคม 2566) คาดว่าตลอดการจัดงานจะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 100,000 คน และมียอดขายในงานประมาณ 6,000 ล้านบาท (จากการจัดงานครั้งที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 3,000 ล้านบาทและจะมียอดขายหลังงานอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท รวมเป็นยอดขายทั้งหมด 15,000 ล้านบาท

ส่วนแผนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์เน้นการเผยแพร่ข่าวสารและงานโฆษณาต่างๆผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายประเภท ทั้งสื่อของงานมหกรรมบ้านและคอนโดเอง ตั้งแต่Facebook, IG, Line OA, Website, Youtube และ TikTok และยังมีการโปรโมทผ่าน Google ทั้งในรูปแบบแบนเนอร์โฆษณาผ่าน Google Display Network และ SEM ให้หน้าเว็บของงานติดบนหน้าแรกของ Google โดยเลือกคีย์เวิร์ดที่ครอบคลุม ทั้งยังใช้ KOL ที่มีชื่อเสียงในวงการอสังหาฯ มาทำคอนเทนท์โปรโมทงานผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ ทั้งช่วงก่อนและระหว่างวันงาน

“นอกจากโซเชียลมีเดียแล้ว เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ยังได้ใช้สื่อสายหลัก ในการทำประชาสัมพันธ์งานอย่างต่อเนื่องไปจนถึงพิธีเปิดฯ เพื่อให้มีข่าวสารปรากฏทางช่องทางข่าวอยู่เสมอ ทั้งยังมีการใช้สื่อ Out of Home ในการเผยแพร่หนังโฆษณาความยาว 15 – 30 วินาที บนจอโฆษณาใน MRT และบน Digital Billboard บริเวณอโศก คลองเตย บริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และบริเวณบ่อนไก่ มุ่งหน้าเข้าคลองเตยรวมถึงการพูดประชาสัมพันธ์ทางรายการโทรทัศน์ยอดนิยม อย่าง เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ของช่อง 3 เป็นต้น” นายธีรวัฒน์ กล่าวในที่สุด

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*