เอส
โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ประกาศแผนธุรกิจสร้างรายได้โตกว่าหมื่นล้านในปี 66 เชื่อมั่นโต20% จากปีก่อน หลังรายได้ปี 65 ทะลุเป้าที่ 8,700 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์สร้างความหลากหลายที่สมดุลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน มั่นใจสถานะทางการเงินแกร่ง ผนวกแรงหนุนจากการเปิดประเทศฟื้นการท่องเที่ยว พร้อมดันกลยุทธ์ 3P สร้างผลกำไร ขยายพอร์ตธุรกิจ  เพื่อครองตำแหน่งผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมรายได้สูงสุดเป็นอันดับต้นในไทยต่อเนื่อง ระบุวิกฤติ Bank Run ในสหรัฐ ไม่กระทบธุรกิจท่องเที่ยว กางแผน 3 ปี อัดงบลงทุนขยายพอร์ตรร.ในยุโรปเอเชีย มูลค่า 7,500 ล้านบาท
นายเดิร์ก เดอ คุยเปอร์
นายเดิร์ก เดอ คุยเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด(มหาชน) หรือ SHR ผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมและการลงทุนชั้นนำในเครือบริษัทสิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S เปิดเผยว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลังการยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับกลยุทธ์ผลักดันธุรกิจ และเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งของบริษัท ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้นจากทั่วทุกมุมโลกซึ่งเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของ SHR เติบโตได้เต็มอัตรา และมีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของโรงแรมในหลายประเทศ โดยสามารถปรับค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน หรือ ADR ในระดับที่สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 และเป็นระดับที่สูงที่สุดมาตั้งแต่เปิดให้บริการมาอีกด้วย เสริมทัพด้วยการฟื้นตัวของโรงแรมในประเทศไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ส่งผลให้ SHR กวาดรายได้เกินกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ สู่ 8,700 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท ก้าวขึ้นแท่นผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมของไทยที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นแล้ว บริษัทได้รับการยกย่องให้บรรจุอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนประจำปี 2565 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พร้อมคะแนนจากการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับดีเลิศ” (5 ดาว) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมรักษาความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่มีคุณภาพ

ปี 2566 เป็นปีแห่งการผลักดันผลประกอบการให้เติบโตโดนเด่น พร้อมใช้กลยุทธ์เสริมจุดแข็งธุรกิจ และการขยายช่องทางการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าที่หลากหลายจากทุกมุมโลก โดยทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจของ SHR ในปี 2566 จะรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าครองตำแหน่งผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 20% จากปีก่อน (YoY) โดยแผนการดำเนินงานที่จะผลักดันให้รายได้บริษัทฯ สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายนั้น มาจากจุดแข็งของ SHR ในด้านความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอ (diversified portfolio) สามารถดึงดูดลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มจากทั่วโลก โดยหลังการเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ คาดว่า โรงแรมเครือที่ประเทศไทยทั้ง 4 แห่งจะเป็นฟันเฟืองหลักในการผลักดันการเติบโตของปี 2566 นี้ ซึ่งตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ประมาณ 60% จากปีก่อนหน้า (YoY) คิดเป็นอัตราส่วน 16% ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในขณะที่รายได้จากโรงแรมในมัลดีฟส์และสหราชอาณาจักรจะเติบโตขึ้น 30% และ 10% จากปีก่อน (YoY) คิดเป็นอัตราส่วน 31% และ 36% ตามลำดับนายเดิร์ก กล่าว

นอกจากนี้ SHR ยังเล็งเห็นความสำคัญของการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการกำหนดราคาห้องพักของโรงแรมในเครือให้เหมาะสมตามฤดูกาลและตอบสนองความต้องการแบบเรียลไทม์ สามารถบริหารจัดการรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำกิจกรรมทางการตลาดออนไลน์เจาะกลุ่มตลาดที่หลากหลายเพื่อเพิ่มอัตราการจองห้องพักโดยตรง (Direct booking) และสามารถผลักดันค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปีนี้บริษัทฯคาดว่าอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ของโรงแรมในเครือทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 75% เมื่อเทียบกับผลประกอบการในปี 2565 ซึ่ง SHR สามารถรายงานผลกำไรที่พลิกกลับมาเป็นบวกได้สำเร็จ จากอัตราการเข้าพักที่ระดับเพียง 60% ดังนั้นเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ระดับการเข้าพักเป้าหมายที่ระดับ 75% นี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนผลกำไรของ SHR ในปี 2566 ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสร้างฐานกำไรใหม่ให้กับ SHR สำหรับรองรับการขยายการเติบโตในอนาคต

ด้านนายชัยรัตน์ ศิวะพรพันธ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน SHR กล่าวว่า จากกรณีของการเกิดวิกฤติ Bank Run ในสหรัฐ มองว่าไม่กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง และไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ แต่ปัจจุบันยังคงเห็นความต้องการเดินทางท่องเที่ยวมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวกลับมาของธุรกิจโรงแรม จากการที่สามารถปรับเพิ่มอัตราค่าห้องพักกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้แล้ว และมีอัตราการเข้าพักในระดับที่สูง

ทั้งนี้ในปี 2566 นี้ บริษัทยังมีแผนการขายโรงแรมในสหราชอาณาจักร (UK) ออกไปอีก 2 แห่งเพื่อนำเงินที่ได้มารองรับในการปรับปรุงโรงแรมใน UK ที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราค่าห้องพัก ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มมาร์จิ้นให้กับโรงแรมในเครือ โดยในปี 2566-2567 บริษัทฯวางงบลงทุนในการปรับปรุงโรงแรมใน UK ไว้ที่ 16 ล้านปอนด์ ซึ่งคาดหวังว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมาร์จิ้นได้ 2-5%

ขณะที่การศึกษาเข้าซื้อโรงแรมเข้ามาในพอร์ตของบริษัทนั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งมีความสนใจเข้าซื้อในกลุ่มประเทศยุโรป เช่น กรีซ เสปน โปรตุเกส รวมถึงการขยายพอร์ตโรงแรมในเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่บริษัทฯมีความสนใจ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา โดยจะใช้เงินลงทุนที่ตั้งไว้ใน 3 ปีนี้ (ปี 2566-2568) ที่ 7,500 ล้านบาท ไว้รองรับการลงทุน

นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าในการขยายพอร์ตโรงแรมผ่านการรับจ้างบริหารโรงแรม ซึ่งจะมีการพัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นมารองรับการบริหารโรงแรม โดยในช่วงแรกจะมุ่งเน้นการขยายพอร์ตรับจ้างบริหารโรงแรมในประเทศไทย 5 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของโรงแรมที่สนใจ ซึ่งจะเห็นความชัดเจนได้ในปีนี้

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*