รัฐบาลลุงตู่ทิ้งทวนก่อนยุบสภา ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ปีภาษี 2566 โดยมีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่เข้าข่าย 4 ประเภท

รายงานข่าวล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ปีภาษี 2566 โดยมีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่เข้าข่าย 4 ประเภท หวังลดภาระ-บรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ทั้งสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.66 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 ระบุว่า มาตรา 3 ให้ลดจำนวนภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ตามมาตรา 42 สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ.2566

สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทที่เข้าข่ายการลดภาษี คือ

1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากข้อ 1 และ 2

4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2566 เป็นต้นไป

เมินข้อเสนอกกร.แต่กลับประกาศลดภาษีฯ 15%

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ประกาศดังกล่าวเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา และเพิ่งประกาศในประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด จากที่เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น เพื่อพิจารณาใน 4 ประเด็น คือ

1.ขอให้พิจารณาแก้ไขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จที่ยังไม่ได้ขาย จากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย

2.พิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรฯ และอาคารชุดที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันจะไม่ได้รับการยกเว้น จึงขอเสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย

3.พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไปอีก 2 ปี (ปี 2566 และ ปี 2567) โดยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ทั้งนี้ ในปี 2566 ขอลดหย่อน 75% และปีต่อไป 50% ตามลำดับ

4.พิจารณายกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยสำหรับผู้ค้างชำระในปี 2565 โดยให้ผ่อนชำระในปี 2566

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ก็ไม่ได้มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับประกาศลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ปีภาษี 2566  และมีการขยายระยะเวลาการจัดเก็บจากเดือนเมษายน เป็นเดือนมิถุนายน 2566

มองแค่นโยบายหาเสียง แนะรัฐบาลใหม่ต้องมีความชัดเจน

ด้านนายศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัว มองว่าประกาศดังกล่าวไม่มีผลมากนัก เพราะลดเพียง 15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่ผ่อนปรนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯลง 90%

“ผมว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินฯก็มีเงื่อนไข เช่น บ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีฯ มองว่าเป็นการหาเสียง แต่มองว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่ การจัดเก็บภาษีฯนั้น ผมไม่ติดในเรื่องสเต็ปการคิด แต่ขอให้มีความชัดเจน เช่น  ที่ดินแปลงเดียวกัน มี 3 กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างอันเดียวกัน จะเสียภาษีอย่างไร ” นายศุภโชค กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*