กรณีข่าวบ้านหลังหนึ่งใน .ธัญบุรี .ปทุมธานี ได้ถูกยึดทรัพย์และธนาคารนำไปขายทอดตลาดเนื่องจากขาดการผ่อนชำระ ตามที่เจ้าหนี้กำหนด เมื่อเจ้าของรายใหม่ซึ่งเป็นนักลงทุนซื้อบ้านเก่ามารีโนเวทใหม่ เพื่อขายต่อในราคาใหม่ ได้ซื้อทรัพย์มาจากกรมบังคับคดีเมื่อปี 2565 แต่ปรากฏว่าผู้ครอบครองเดิมไม่ยอมออกจากบ้าน และเกิดถึงขั้นบันดาลโทสะ ใช้ปืนยิงเจ้าของบ้านรายใหม่จนเสียชีวิต จนเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งเรื่องในรูปแบบทำนองนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นรายแรก แต่เป็นปัญหาที่เจ้าของบ้านรายใหม่ที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาด ประสบปัญหากันมาหลายราย มีเรื่องราวเกิดขึ้นในเคสที่ต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ผู้ครอบครองเดิมไม่ยอมย้ายออก หรือผู้ครอบครองเดิมนำทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาดแล้วไปปล่อยเช่า ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เจ้าของบ้านรายใหม่ต้องรับไป แต่ยังไม่เคยเกิดเรื่องราวถึงขั้นยิงกันถึงเสียชีวิต ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา จึงเกิดคำถามจากประชาชนทั่วไปขึ้นมามากมายว่าก่อนที่สถาบันการเงิน หรือกรมบังคับคดีจะนำทรัพย์ขายทอดตลาด ทำไมไม่เคลียร์ให้ผู้ครอบครองเดิมออกก่อนเพราะผู้ครอบครองไม่ยอมย้ายออก บางกรณีบ้านที่ถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่เจ้าของเดิมยังเอาไปปล่อยให้คนอื่นเช่า ครั้นเจ้าของใหม่มาแจ้งให้ออก ก็ไม่ยอมย้าย ก็เกิดปัญหาคาราคาซัง  ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเช่นนี้อีกกี่ครั้ง
นางทัศนีย์ เปาอินทร์
กรมบังคับคดีแจงผู้ซื้อทรัพย์สามารถร้องศาลขอหมายบังคับคดี
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี โดยได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์ และได้จุดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สำนักงานที่ดินแล้วหากผู้ซื้อพบว่าเจ้าของเดิม และบริวารยังอาศัยอยู่ในทรัพย์ดังกล่าว ผู้ซื้อสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีหมายบังคับคดี ขับไล่เจ้าของเดิมและบริวารออกจากทรัพย์ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ แต่หากเจ้าของเดิมและบริวารยังไม่ย้ายออก ผู้ซื้อทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานศาลของให้ออกหมายจับเจ้าของเดิมและบริวาร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ นอกจากนี้หากผู้ซื้อทรัพย์ประสงค์ที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเชิญเจ้าของเดิมมาเจรจาหาทางออกร่วมกันก็สามารถทำได้ในขณะเดียวกัน เจ้าของเดิมก็สามารถที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ซื้อทรัพย์ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีดังกล่าวอาจนำไปสู่การระงับข้อพิพาทด้วยความสมานฉันท์ และเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้โดยไม่ต้องดำเนินการบังคับต่อไป

ทั้งนี้หากต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีหรือขั้นตอนในการบังคับคดีสามารถสอบถามเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ หรือสอบถามที่สายด่วนบังคับคดี โทร 1111 ต่อ 79 หรือค้นหาข้อมูลได้จาก www.led.go.th

นายอิสระ บุญยัง
ตรวจสอบตกลงเงื่อนไขกับกรมบังคับคดีสถาบันการเงินให้ชัดเจน ก่อนซื้อและโอน
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกั กล่าวว่า การบังคับขายทอดตลาดถือว่าเป็นบังคับคดีแล้ว  และกรณีดังกล่าวข้างต้นถือเป็นอุทาหรณ์ ในกรณีที่ทรัพย์ถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีผู้ครอบครอง โดยผู้ซื้อคิดว่ามีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ที่ซื้อมาแล้ว สามารถจะเข้าไปใช้สิทธิ์ได้ ซึ่งในตามความเป็นจริงแล้วไม่ควรเข้าไปดำเนินการเอง แต่ควรไปขอให้ศาลมีหมายบังคับคดี ขับไล่ผู้ครอบครองเดิมและบริวารออกจากทรัพย์ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ตามที่กรมบังคับคดีได้ออกหนังสือชี้แจงมาซึ่งถูกต้องแล้ว และหากผู้ครอบครองเดิมยังไม่ย้ายออกอีก ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนที่กรมบังคับคดีให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินคดีต่อไป

แต่ถ้าหากเป็นการซื้อสินทรัพย์จากสถาบันการเงิน ผู้ซื้อก็ต้องสืบให้แน่ชัดเช่นกันว่ายังมีผู้ครอบครองเดิมอยู่หรือไม่ และต้องดูเงื่อนไขว่าใครจะเป็นผู้ฟ้องขับไล่ หากผู้ซื้อไปฟ้องขับไล่เองก็จะมีความเสี่ยง และใช้ระยะเวลาเป็นปี  ซึ่งที่ผ่านมาตนก็เห็นประสบการณ์มาทั้ง 2 กรณี แต่ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ หากถ้าเป็นประชาชนทั่วไปซื้อสินทรัพย์ทอดตลาด ก็ควรให้สถาบันการเงินหรือกรมบังคับคดี ซึ่งมีฝ่ายกฎหมายอยู่แล้ว เป็นผู้ช่วยดำเนินการให้ ก่อนที่จะซื้อและจะโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาและบาดเจ็บ เสียชีวิต

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*