Krungthai COMPASS มองซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง อานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและแรงหนุนจากนโยบายปฏิรูป “Saudi Vision 2030”  คาดการส่งออกไทยไปซาอุฯสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 2 เท่า จำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯแตะ 2 แสนคนในอีก 7 ปีข้างหน้า  แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้า ภาคบริการ และการลงทุน ขยายตลาดหรือหาช่องทางลงทุน สร้างการเติบโตในอนาคต
ดร. ฉมาดนัย มากนวล
ดร. ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KTB เปิดเผยว่า สัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย เป็นปัจจัยเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทั้งสองประเทศ  โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปซาอุฯและจำนวนนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังฟื้นความสัมพันธ์  ขณะที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้กระชับความร่วมมือทางธุรกิจ หนุนเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนปฏิรูปประเทศของซาอุฯ หรือ “Saudi Vision 2030” ที่มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่า GDP เป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 (เทียบจากปี 2559)  ปัจจัยหลักมาจากการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Non-oil economy) มูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ช่วยสร้างงานใหม่ถึง 6 ล้านตำแหน่ง  ถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง  เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้า และการดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุฯมาไทย
“ปัจจุบันซาอุฯถือเป็นผู้ถือดุลอำนาจใหม่ของโลก และถือว่าเป็นประเทศแรกที่จีนถือโอกาสเชื่อมประตูสู่โลกตะวันออกกลาง และจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจ ลำดับที่ 15 ของโลก ซึ่ง Krungthai COMPASS  คาดการณ์ว่า จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและ Saudi Vision 2030 จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 57,018 ล้านบาท คิดเป็น 0.21% ของ GDP  โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังซาอุฯในปี 2573 มีโอกาสสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19   และคาดว่านักท่องเที่ยวซาอุฯจะมีโอกาสแตะ 2 แสนคนในอีก 7 ปีข้างหน้า สร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยราว 32,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าจากช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังจะช่วยหนุนการเติบโตของ GDP ตามศักยภาพในระยะยาวอีกด้วย”นายฉมาดนัย กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตและแรงหนุนจากนโยบาย Saudi Vision 2030  จะสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

1.โอกาสทางการค้า โดยการส่งออกไปซาอุฯ เติบโตแบบก้าวกระโดดหลังฟื้นความสัมพันธ์  และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีศักยภาพสูง โดยมองว่า สินค้าไทยที่เป็น Rising Star ในตลาดซาอุฯ ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร ไก่ และอาหารสัตว์เลี้ยง  ซึ่งกลุ่มนี้มีส่วนแบ่งตลาดในซาอุฯ ไม่มากนัก จึงมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดคืน อีกทั้งเป็นสินค้าที่สอดรับกับเมกะเทรนด์ด้านความมั่นคงทางอาหารของซาอุฯ สินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็ก และปูนซีเมนต์ สินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้ากลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2.โอกาสของธุรกิจภาคบริการ ประเมินว่าธุรกิจท่องเที่ยว Healthcare และอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเติบโตของลูกค้าชาวซาอุฯ ซึ่งมีจุดเด่นในด้านการจับจ่ายใช้สอยสูงและมีระยะเวลาพำนักในไทยยาวกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น

3.โอกาสการลงทุน คาดการณ์ว่าจากแผนการส่งเสริมการลงทุนของทางการและภาคเอกชน  จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากซาอุฯได้ประมาณ 3–6 แสนล้านบาท  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทย ยังมีโอกาสไปลงทุนในซาอุฯ จากอานิสงส์นโยบายเปิดรับนักลงทุนต่างชาติภายใต้ “Saudi Vision 2030” โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อาหารแปรรูป ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว และยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน

 

จากศักยภาพด้านธุรกิจและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งธุรกรรมการโอนเงินสกุลท้องถิ่นของซาอุดิอาระเบีย “ซาอุดิ ริยัล (Saudi Riyal)” ของธนาคารกรุงไทย เป็นอีกตัวอย่างที่จะหนุนผู้ประกอบการในการขยายธุรกิจและการลงทุนระหว่าง2 ประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายกณิศ อ่ำสกุล
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KTB กล่าวว่า โอกาสของภาคบริการธุรกิจในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะได้อานิสงส์จากชาวซาอุฯ ใน 3 ธุรกิจหลัก คือ

1.ธุรกิจท่องเที่ยว จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ ทำให้มีการเพิ่มสิทธิการบินขนส่งผู้โดยสารจากเดิมฝ่ายละ 9 เป็น 42 เที่ยวต่อสัปดาห์ ส่งผลให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เตรียมเปิดสำนักงานที่ซาอุฯ โดยในช่วง 1-2 ปี นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 96,000 คน ในปี 2565 มาอยู่ที่ 149,000-156,000 คน

2.ธุรกิจเฮลท์แคร์ พบว่าชาวซาอุฯมีค่าใช้จ่ายต่อหัวด้านการรักษาพยาบาลที่สูงถึงประมาณ 177,000 บาท/เที่ยว ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมถึง 15% และจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ เร่ิมมีแผนงานและตั้งเป้ารายได้จากลูกค้ากลุ่มชาวซาอุฯแล้ว เช่น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)หรือ BDMS ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ผู้ป่วยชาวซาอุฯ จาก 100 ล้านบาท ในปี 2565 เป็น 600-700 ล้านบาทในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศซาอุฯ เพื่อดำเนินงานด้านการตลาด การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์

3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชาวซาอุฯชื่นชอบคอนโดฯในระดับราคา 5-6 ล้านบาทต่อยูนิต และนิยมทำเลต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ ถึงกว่า 60% โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565)มีชาวซาอุฯโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด เพียง 17 ยูนิต มูลค่า 97 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงแรมจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ชาวซาอุฯสนใจลงทุน ซึ่งต้องจับตาดูว่า ชาวซาอุฯจะสนใจระดับราคาและทำเลไหนเป็นหลัก

ส่วนการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)ยังไม่เห็นความชัดเจนในด้านการลงทุนของชาวซาอุฯ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร

ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรมีการปรับตัวใน 2 เรื่องหลักคือ 1.เรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์-บริการให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของชาวซาอุฯ เช่น การรับรองมาตรฐานฮาลาลสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงอำนวยความสะดวกในการจัดพื้นที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา 2.การใช้ช่องทางการตลาดให้เหมาะสม

สำหรับช่วงระยะเวลาที่ชาวซาอุฯมักนิยมเดินทางออกนอกประเทศคือ ช่วงไตรมาส 2-3 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิอากาศในตะวันออกกลางจะร้อนจัด ทำให้ชาวตะวันออกกลางนิยมออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่วเป็นช่วง Low Season ของไทย

นายณัฐพร ศรีทอง
นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์  Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KTB กล่าวว่า จากการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชน พบว่าชาวซาอุฯให้ความสนใจครอบคลุมใน 15 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ Healthcare & Life Sciences ,Tourism & Quality of Life ,Agriculture & Food Processing,Aerospace and Defense,Chemicals,Real Estate,Industrial and Manufacturing,Financial Services,Transport & Logistics,Energy,Mining and Metals,Pharma & Biotech,Information & Communication Technology,Human Capital Innovation

ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในซาอุฯมากขึ้น อาทิ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม แบรนด์อเมซอน ,อาหารแปรรูป ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ,บริการส่งออก-นำเข้า ของ SCG ,ธุรกิจโรงพยาบาล ,ธุรกิจโรงแรมในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป,ธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า ของกลุ่มอินเด็กซ์ และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ของกลุ่มวีก้า อินเตอร์เทรด เป็นต้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*